BCST

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand; BCST) เป็นองค์กรอนุรักษ์ที่เก่าแก่ที่สุดองค์กรหนึ่งของประเทศไทย และเป็นองค์กรเครือข่ายประจำประเทศไทยของ BirdLife International ภารกิจหลักของ BCST คือการเผยแพร่ข้อมูลและเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับนกและธรรมชาติรอบตัว โดยมุ่งหวังให้คนในสังคมได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น

วิสัยทัศน์

เพื่อสร้างความยั่งยืนระหว่างนก ธรรมชาติ และมนุษย์

พันธกิจ

เรามุ่งเน้นเผยแพร่ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนก ถิ่นอาศัย และทรัพยากรธรรมชาติแก่สังคม โดยการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เช่น การดูนก การศึกษา และโครงการอนุรักษ์

สัญลักษณ์ของสมาคมฯ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 เมื่อครั้งสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยยังเป็น “ชมรมดูนกกรุงเทพ” ได้มีการใช้ นกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin; Copsychus saularis) เป็นตราสัญลักษณ์ประจำชมรม และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากนกกางเขนบ้านเป็นที่พบเห็นได้บ่อยทั่วไปในเมืองไทย แม้แต่ในกรุงเทพมหานครฯ อีกทั้งยังเป็นนกที่มีสีสันและลวดลายโดดเด่น เพศผู้มีลำตัวสีขาวดำ สังเกตได้ง่าย และยังมีเสียงร้องเป็นทำนองไพเราะ จึงเป็นหนึ่งในนกที่คนไทยคุ้นเคยกันดีที่สุด

เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ สมาคมฯ จึงได้กำหนดวัตถุประสงค์เหล่านี้

สนับสนุนและยกระดับการอนุรักษ์ที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของนกที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์ รวมถึงถิ่นอาศัยของนกเหล่านั้นในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค

ขยายขอบเขตการเผยแพร่ข้อมูล ฐานสมาชิก นโยบาย และเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ

เป็นผู้นำองค์กร NGO ระดับประเทศ ที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการอนุรักษ์นกและธรรมชาติในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2544
จัดเทศกาลดูนกเมืองไทยขึ้นเป็นครั้งแรก จากนั้นกิจกรรมนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในงานสำคัญของสมาคมฯ จนถึงปัจจุบัน

2546
เริ่มต้นได้รับความสนับสนุนจาก RSPB (Royal Society for the Protection of Birds) เพื่อดำเนินงานอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ

2547
สมาคมฯ ตีพิมพ์ข้อมูลพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกในเมืองไทย (Directory of Important Bird Areas in Thailand) โดยครอบคลุมทั้งหมด 62 พื้นที่ทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของ BirdLife International

2550
สมาคมฯ และ RSPB สนับสนุนการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่อนุรักษ์

2551
สมาคมฯ เริ่มต้นดำเนินงานกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน

2553
สมาคมฯ เข้าร่วมคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อร่วมเสนอแนวทางการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

2555
ตีพิมพ์ผลการศึกษาความเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่รอบอ่าวไทยตอนใน นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนกชายเลนอพยพ

2555
สมาคมฯ เป็นผู้จัดงาน Asian Bird Fair

2557
สมาคมฯ เป็นผู้จัดการประชุมองค์กรเครือข่ายของ BirdLife ในเอเชีย

2559
สนับสนุนชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขามในการยับยั้งการสร้างโซลาร์ฟาร์ม ในพื้นที่นาเกลือซึ่งนกชายเลนปากช้อนและนกชายเลนจำนวนมากใช้เป็นแหล่งอาศัย

2560
ได้รับรางวัลองค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2560 คัดเลือกโดยคณะอนุกรรมการสรรหาและเชิดชูเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน

2561
ลงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อดำเนินงานด้านการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยในจังหวัดบุรีรัมย์