สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (สนท.) หรือ Bird Conservation Society of Thailand (BCST) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นจากนิยมไพรสมาคม หรือ The Association for the Conservation of Wildlife (ACW) ก่อตั้งโดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล “บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2496 โดยใช้สหการแพทย์หรือบ้านของท่าน ซอยเจริญกรุง 36 หรือตรอกโรงภาษี แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ณ ที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้า สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์ป่าและป่าไม้แห่งแรกของประเทศไทย โดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อีกทั้งท่านยังได้เขียนภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับนกและสัตว์ป่า เผยแพร่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์เป็นประจำตั้งแต่ พ.ศ. 2498
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ต่อมาในปีพ.ศ.2505 ชาวต่างประเทศที่รักการดูนกและเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว ได้จัดตั้ง Bangkok Bird Club (BBC) โดยมีนายเอ็ดเวิด ซี ดิคคินสัน (Mr.E.C. Dickinson) เป็นเลขาธิการกิติมศักดิ์ เพื่อรวมกลุ่มนักดูนกทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น รวมทั้งนักปักษีวิทยาชาวไทยและต่างประเทศ ให้มาศึกษาเกี่ยวกับนกในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีการออกไปดูนกตามสถานที่ต่าง ๆ ประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับนกและการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นประจำ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2519 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้นำเอากิจกรรมการดูนกเป็นส่วนหนึ่งของนิยมไพรสมาคมและมีชื่อเรียก Bangkok Bird Club (BBC) เป็นภาษาไทยครั้งแรกว่า “กลุ่มชมนกกรุงเทพ” มีนายโจ พอลลี่ (Mr. Joe Pauly) นักดูนกชาวอเมริกันเป็นประธาน เริ่มมีข่าวสารเป็นภาษาอังกฤษออกทุกเดือน มีการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 ที่สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.ราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยใช้ภาษาอังกฤษ มีการกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของทุกเดือนเป็นวันประชุมสมาชิก พร้อมทั้งนำสมาชิกออกไปดูนกนอกสถานที่เป็นประจำ
เดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 นายโจ พอลลี่ เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลจึงอาสารับกลุ่มชมนกกรุงเทพ เข้ามาเป็นกิจกรรมหนึ่งของนิยมไพรสมาคมและรับเป็นประธาน โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มนก นิยมไพรสมาคม” มีรูปนกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนกที่ทุกคนเห็นได้ง่ายโดยทั่วไป มีเสียงร้องไพเราะและอยู่ใกล้เรามากที่สุด ตามปกติกลุ่มนก นิยมไพรสมาคมจะประชุมกันที่สหการแพทย์ แต่ต่อมาเห็นว่าภาระกิจมีมากขึ้น จึงออกไปจัดตั้งเป็นชมรมอิสระดำเนินกิจกรรมด้วยตนเอง ใช้ชื่อว่า “กลุ่มชมนกกรุงเทพ” โดยมีคุณวิรัช จันทรัศมี เป็นประธาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการชมรมฯ ประกอบด้วยชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่อมาย้ายสถานที่ประชุมประจำเดือนไปที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ ขณะนั้นมีสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้น
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2527 หม่อมราชวงศ์ ปรัชญากร วรวรรณ (บิดาของหม่อมหลวง ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่าอันดับหนึ่งของไทย) รักษาการณ์ตำแหน่งประธานสืบต่อมา ได้มีการย้ายที่ประชุมประจำเดือนมาที่ตึกแถบ นิละนิธิ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ โดยใช้ภาษาไทยในการประชุม
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 เริ่มมีการจัดทำวารสารฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก รูปนกกางเขนบ้านพุงยุ้ย (เดิม) ก็ได้กลายมาเป็นรูปนกกางเขนบ้านรูปร่างเพรียวสวยงามจนบัดนี้ โดยมีม.ร.ว.ปรัชญากร วรวรรณ เป็นบรรณาธิการร่วมกับนายฟิลลิป ดี ราวด์ (Philip D. Round) และสมาชิกส่วนมากของชมรมฯ เป็นคนไทยมากขึ้น ต่อมา สมาชิกได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานชั่วคราวและเปลี่ยนชื่อเป็น “ชมรมดูนกกรุงเทพ” โดยมีคุณกมล โกมลผลิน เป็นประธานคนแรก มีการประชุมคณะทำงาน ออกวารสารและนำสมาชิกดูนกนอกสถานที่เป็นประจำทุกเดือน อีกทั้งได้มีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมฯ ด้านต่าง ๆ มากขึ้นประมาณ 1,000 คน คณะทำงานจึงได้ร่างกฎระเบียบของชมรมฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและบริหารงาน เนื่องจากชมรมฯ จะเติบโตต่อไปในอนาคต โดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้ร่วมกิจกรรมกับชมรมฯ มาโดยตลอด
จากนั้นกิจกรรมของชมรมดูนกกรุงเทพ ก็มีมากขึ้นและเป็นทางการมากขึ้น ได้ติดต่อกับหน่วยงานหลายภาคส่วนและทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจังไปทั่วประเทศไทย สมาชิกจึงเห็นพ้องกันพัฒนาองค์กรจัดตั้งเป็น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (สนท.) หรือ Bird Conservation Society of Thailand (BCST) โดยได้รับอนุญาตและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2536 โดยนายสุธี ศุภรัฐวิกร เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก
ปัจจุบันสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ยังคงทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติไปทั่วประเทศไทยเช่นเดิม โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความยั่งยืนระหว่างนก ธรรมชาติและมนุษย์ มีพันธกิจมุ่งเน้นเผยแพร่ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนก ถิ่นอาศัย และทรัพยากรธรรมชาติแก่สังคม โดยการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอันยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูนก การศึกษา และโครงการอนุรักษ์ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ เพื่อคงไว้ซึ่งแหล่งอาศัยของนกและสัตว์ป่าตามธรรมชาติแด่ชนรุ่นหลัง
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สมาคมฯ ก็ได้ลงนามเป็นภาคี สมาชิกขององค์กรอนุรักษ์นกสากล (Full Partner of BirdLife International) เป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งใน 16 ภาคีของทวีปเอเซีย
กิจกรรมหลักที่ทางสมาคม ฯ ได้ทำอย่างตั้งใจมาอย่างต่อเนื่องได้แก่
- กิจกรรมนับนกน้ำเอเชีย (Asian Waterbird Census) ในเดือนมกราคม ที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 เป็นมหกรรมการดูและนับนกน้ำ ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศมากที่สุดและในแต่ละปีสามารถนับนกได้หลายแสนตัว ซึ่งใช้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี
- กิจกรรมดูนกในสวน (Bird Walk) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 โดยจะนำผู้ที่สนใจในธรรมชาติ เข้าร่วมดูนกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนหลวงรัชกาลที่ 9 สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และพุทธมณฑล ที่ผ่านมามีเข้าร่วมกิจกรรมแล้วนับหมื่นคน
- กิจกรรมนำสมาชิกสมาคม ฯ ไปศึกษาธรรมชาติและดูนกตามพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เดือนละ 3 – 4 ครั้ง ซึ่งทำติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกลุ่มชมนกกรุงเทพ เมื่อปีพ.ศ.2519 จวบจนปัจจุบัน
- งานเทศกาลดูนกประเทศไทย (The International Thailand Bird Fair) ในเดือนพฤศจิกายน ที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 จวบจนปัจจุบัน จัดเป็นงานนิทรรศการด้านอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย มีการแสดงนิทรรศการและออกร้านจากกลุ่มองค์กรด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมแล้วนับร้อยองค์กร
- โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำอ่าวไทยตอนใน เพื่อนกประจำถิ่นและนกอพยพในฤดูหนาว จากตอนเหนือของเอเชียให้ได้มีถิ่นพำนักที่ปลอดภัย มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีและเกษตรกรผู้ทำนาเกลือสมุทรได้ใช้ชีวิตตามวิถี ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับนก ควบคู่ไปกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย
- โครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าดิบที่ราบต่ำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาประ-บางคราม จังหวัดกระบี่ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายของนกแต้วแล้วท้องดำ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย
ติดต่อสมัครสมาชิกหรือสนับสนุนสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ที่บ้านเลขที่ 221 หมู่ 2 ซอยงามวงศ์วาน 27 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000 โทรศัพท์ 02 – 588 – 2277, 064 – 458 – 9899 หรือเว็บไซต์ (www.bcst.or.th) หรือเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/bcst.or.th) ซึ่งจะมีประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ให้ทราบเป็นประจำ หรืออีเมล์สอบถามรายละเอียดได้ที่ bcst@bcst.or.th
“เชิญร่วมสร้างความยั่งยืนระหว่างนก ธรรมชาติและมนุษย์ไปด้วยกัน”