เรื่อง : อุเทน ภุมรินทร์ ภาพ : วิชญนันท์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ
ขอแนะนำนกสามัญประจำบ้านที่เราล้วนคุ้นหน้าคุ้นตา แถมยังสุดสวย ชวนให้เรามาเฝ้ามอง สัก 5 ชนิดนะครับ ป.ล. ทั้ง 5 อันดับอาจไม่ตรงใจผู้อ่าน หลายท่านอาจแย้งว่า นกในเมืองชนิดอื่นที่สวยกว่านี้ก็มี ทำไม? ไม่ติดใน 5 อันดับ ต้องยอมรับเลยว่า ผู้เขียนเอาใจตัวเอง เลือกนกเมืองที่พบได้บ่อยตามสวนสาธารณะ มานำเสนอก่อนครับ
1.นกตีทอง / Coppersmith Barbet (Psilopogon haemacephala) ขนาด : 16-17 ซม.
นกแสนสวยที่พบได้ง่ายแม้ในเมืองหลวง เจ้าของเสียงร้อง “ต๊ง ต๊ง…” ก้องกังวาน จนเป็นที่มาของชื่อ เพราะฟังเสียงราวกับมีใครไปตีทองคำอยู่บนยอดไม้นกชนิดนี้ มีลำตัวด้านบนสีเขียว หน้าผากสีแดง ใบหน้าสีดำ มีคิ้ว บริเวณใต้ตา และคอสีเหลือง ตัดกันกับแถบสีแดงบริเวณคอด้านล่าง อกตอนบนสีเหลือง อกตอนล่างและท้องสีขาวอมเหลืองมีลายขีดสีเขียวกระจายทั่ว เจ้าตีทองทำรังเลี้ยงลูกน้อยในโพรงไม้เช่นเดียวกับกลุ่มนกโพระดกชนิดอื่น โดยใช้ปากที่หนาและแข็งแรง เจาะโพรงตามกิ่งไม้ที่แห้งตายคาต้น พวกมันกินผลไม้ เช่น ไทร ตะขบฝรั่ง เป็นอาหารหลัก
2.นกกินปลีอกเหลือง / Olive-backed Sunbird (Cinnyris jugularis) ขนาด : 11 ซม.
เราคงรู้จักนกฮัมมิ่งเบิร์ด จนเข้าใจว่า “เคยเห็นนกฮัมมิ่งเบิร์ดมากินน้ำหวานที่ดอกไม้หน้าบ้าน” ทั้งๆที่มันไม่พบในประเทศไทย ต้องชี้แจงชัดๆ ว่า นกกินปลี (Sunbirds) และ Hummingbirds เป็นนกคนละกลุ่มกัน แต่ที่มีหน้าตาดูเผินๆ คล้ายกัน เพราะทั้งสองต่างวิวัฒนาการมาให้มีปากยาว เหมาะสำหรับไว้จิ้มเข้าไปในช่อดอกไม้ เพื่อใช้ลิ้นเลียกินน้ำหวานเหมือนๆ กัน นกชนิดนี้ทั้งสองเพศมีลำตัวด้านล่างสีเหลืองสด นกตัวเมียไม่มีสีน้ำเงินเข้มที่คอเหมือนตัวผู้ และมีแถบคิ้วสีเหลือง แต่นกตัวผู้ชุดขนหลังจับคู่ผสมพันธุ์ (eclipse plumage) มีแถบสีน้ำเงินเข้มเฉพาะที่กลางคอเท่านั้น
นกชนิดนี้พบได้ในถิ่นอาศัยที่หลากหลาย เช่น ตามสวนหลังบ้าน สวนสาธารณะ ต้นมะพร้าวที่ออกดอก เป็นต้น
3.นกกะเต็นน้อยธรรมดา / Common Kingfisher (Alcedo atthis) ขนาด : 16-18 ซม.
นกกะเต็นชนิดนี้มีขนาดเล็กพอๆ กับนกกระจอกบ้าน แต่มีสีสันสวยงาม และปากยาวโตไม่สมตัว มักพบเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ หรือตอไม้ 1-2 เมตรเหนือพื้นน้ำ มีนิสัยชอบกระดกหางและหัวขึ้น-ลง เมื่อมองเห็นเหยื่อ ได้แก่ ปลา และกุ้งตัวเล็กๆ โดยมันจะพุ่งจับปลาบริเวณผิวน้ำ หรือดำลงไปเล็กน้อย แล้วจับเหยื่อมาเกาะบนตอไม้เดิม กลืนกินเหยื่อโดยโยนขึ้น แล้วงับให้ส่วนหัวของเหยื่อลงสู่ท้องก่อน เจ้ากะเต็นน้อยเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ พบได้ทั่วประเทศ มักพบใกล้แหล่งน้ำ ป่าชายเลน ชายทะเล พบได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนเมษายน
4.นกสีชมพูสวน / Scarlet-backed Flowerpecker (Dicaeum cruentatum) ขนาด : 9 ซม.
นกจิ๋วชนิดนี้ เป็นกลุ่ม “นกกาฝาก (Floverpecker)” เพราะมีอุปนิสัยที่มักกินน้ำหวานและผลไม้จากต้นไม้ตระกูลกาฝาก–พืชเบียน (parasite) ขึ้นเกาะบนกิ่งของต้นไม้ชนิดอื่น อาศัยดูดอาหารจากต้นที่มันเกาะ เมื่อนกกินผลกาฝากจนอิ่มแล้ว มันจะถ่ายเมล็ดกาฝากที่มียางเหนียวหนืดราวกับกาวน้ำออกมา นกกาฝากจึงต้อง “เช็ดก้น” กับกิ่งไม้ให้อุจจาระหลุดจากก้น เมล็ดในมูลนกจะงอกและโตเป็นกาฝากต้นใหม่ต่อไป
ชื่อนกในภาษาอังกฤษเรียกตามแถบสีแดงสดตลอดแนวกลางหลังของนกตัวผู้ ตัดกับลำตัวสีดำขลับที่เมื่อต้องแสงจะเหลือบสีน้ำเงิน ส่วนนกตัวเมียลำตัวสีน้ำตาล มีสีแดงแค่เพียงบริเวณตะโพกเท่านั้น ลำตัวด้านล่างของทั้งสองเพศสีขาว นกวัยเด็กมีลำตัวสีน้ำตาลเหมือนตัวเมีย แต่มีโคนปากสีส้ม นกตัวผู้วัยเด็กมีขนสีแดงแซมตามกระหม่อมและหลัง
“เจ้าเล็กบินเร็ว” ชนิดนี้ ปรับตัวอยู่อาศัยตามสวนและในเมืองได้ดี พบได้ง่ายมากทั่วทุกภาค ตามต้นตะขบบ้านที่ออกผลหรือตามต้นกาฝากที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้ใหญ่
5.นกพญาไฟเล็ก / Small Minivet (Pericrocotus cinnamomeus) ขนาด : 14.5-16 ซม.
เสียงร้องดัง “วี๊ดๆๆๆ” แหลมสูง ดังมาจากยอดไม้ก่อนที่จะเห็นตัวนก หากเงยหน้าขึ้นมองจะเห็นนกสีส้ม สีเทา สีเหลืองในตัวเดียวกัน มันคือ นกพญาไฟเล็ก นกสีสันสดใสนี้ มักกระโดดไปตามกิ่งไม้ สอดส่องหาหนอนบุ้ง และแมลงกินเป็นอาหาร นอกจากขนาดตัวที่เล็กกว่านกพญาไฟชนิดอื่นๆ เล็กน้อยแล้ว นกพญาไฟเล็กยังมีสีสันแตกต่างจากนกพญาไฟชนิดอื่นชัดเจน โดยตัวผู้มีลำตัวด้านบนสีเทาอ่อน อกสีส้ม คอสีเทาเข้ม แถบปีกสีส้ม ตัวเมียมีลำตัวด้านบนสีเทาอ่อน ท้องสีเหลืองจางๆ
นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่น พบได้บ่อยตามพื้นที่สีเขียวของเมืองหรือชานเมือง มักพบหากินเป็นฝูงระดับกลางเรือนยอดต้นไม้
สนใจดูนกในเมือง สามารถเข้าร่วมกิจกรรม “Bird walk เดินชมนกในสวน” เป็นประจำทุกเดือนกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) พาเดินชมธรรมชาติฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bcst.or.th/essential_grid/bird-walk