Spotted Greenshank

นอกจาก “น้องสปูนนี่” หรือนกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper) แล้ว รู้หรือไม่ว่าเมืองไทยยังเป็นแหล่งพักพิงที่สำคัญในช่วงฤดูหนาวสำหรับนกชายเลนอพยพที่ใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลกที่มีชื่อว่า นกทะเลขาเขียวลายจุด (Spotted Greenshank หรือ Nordmann’s Greenshank; Tringa guttifer) อีกด้วย

ปัจจุบันคาดว่าประชากรของนกทะเลขาเขียวลายจุดทั่วโลกเหลืออยู่เพียง 1,000-2,000 ตัวเท่านั้น โดยมีแหล่งทำรังวางไข่หลักอยู่รอบทะเลโอค็อตสค์ (Sea of Okhotsk) ทางทิศตะวันออกของรัสเซีย และบินอพยพลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงฤดูหนาว

จากการประเมินล่าสุดโดย Christoph Zöckler, David Li, Sayam U. Chowdhury, Muhammad Iqbal และ Yu Chenxing ซึ่งตีพิมพ์ใน Wader Study พบว่าประเทศไทยเป็นแหล่งพักพิงหลักของนกหายากชนิดนี้ในช่วงฤดูหนาว!

ข้อมูลที่ BCST และนักดูนกในเมืองไทยได้รวบรวมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้สามารถประเมินได้ว่ามีนกทะเลขาเขียวลายจุดจำนวนประมาณ 334-361 ตัว หรือมากกว่า 20% ของประชากรโลก อาศัยอยู่ในเมืองไทยในช่วงฤดูหนาว โดยส่วนมากอาศัยอยู่รอบอ่าวไทยตอนใน โดยเฉพาะบริเวณปากทะเล-แหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี และปากแม่น้ำประแสร์ จ.ระยอง แต่ก็มีประชากรบางส่วนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน และบริเวณคลองใหญ่ จ.ตราด ด้วยเช่นกัน

ประเทศที่เป็นแหล่งพักพิงช่วงฤดูหนาวของนกทะเลขาเขียวลายจุดที่สำคัญรองลงมาจากประเทศไทยคือประเทศมาเลเซีย ซึ่งคาดว่ามีประชากรประมาณ 240 ตัวอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซียซึ่งคาดว่ามีประชากรประมาณ 114 ตัว

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนมากซึ่งเป็นแหล่งพักพิงที่สำคัญของนกทะเลขาเขียวลายจุดในเมืองไทย ยังไม่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์แต่อย่างใด จึงยังมีความเสี่ยงในการสูญเสียแหล่งอาศัยที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรในระดับโลกได้เลยทีเดียว หากต้องการสนับสนุนการอนุรักษ์นกชายเลนหายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการส่งข้อมูลการพบเห็นนกทะเลขาเขียวลายจุด ไม่ว่าจากที่ไหนก็ตามเข้ามาที่กลุ่ม Thai bird report เพื่อให้สามารถเก็บรวบรวมเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับงานอนุรักษ์ต่อไป

 

อ้างอิงจาก Zöckler, C., D. Li, S.U. Chowdhury, M. Iqbal & C. Yu. 2018. Winter distribution, habitat and feeding behaviour of Nordmann’s Greenshank Tringa guttifer. Wader Study 125(1): 00–00.