Bird Friendly Photography

ปัจจุบันการถ่ายภาพนกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก แต่เราจะถ่ายภาพอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อนกและธรรมชาติอย่างน้อยที่สุด หากคุณต้องการที่จะเป็นช่างภาพที่รักและคำนึงถึงสวัสดิภาพของนก มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรปฏิบัติตาม ประเด็นต่างๆ ยึดตามข้อสรุปจากงานเสวนา “การถ่ายภาพที่เป็นมิตรกับนกและธรรมชาติ (Bird-Friendly Techniques)” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 โดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่ม Thai Birder, BirdThailand, Bird Bird และ Bangkok Birding Gang (BBG) และ Audubon’s Guide to Ethical Bird Photography

ในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกล้อง DSLR ได้ง่ายขึ้น ความนิยมในการถ่ายภาพนกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เราจะถ่ายภาพอย่างไรโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้ง “นก” และ “ธรรมชาติ” เบื้องต้น คำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก

การถ่ายภาพนกที่รัง

1) ไม่ตัดแต่งกิ่งไม้หน้ารัง
ทำไม? : เพราะพ่อแม่นกได้เลือกทำเลที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว การตัดแต่งกิ่งเพื่อเปิดให้หน้ารังโล่งขึ้น อาจทำให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นรังและลูกนกได้ง่ายขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนกระบวนการตามธรรมชาติ

2) ใช้บังไพร
ทำไม? : นกแต่ละชนิดสามารถทนการรบกวนจากมนุษย์ได้มากน้อยแตกต่างกัน การใช้บังไพรจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับนกที่อ่อนไหวต่อการรบกวน

3) รักษาระยะห่าง
ทำไม? : การตั้งบังไพรหรือนั่งรอนกใกล้รังจนเกินไป รวมทั้งการเฝ้าในตำแหน่งที่กีดขวางทางเข้ารัง อาจทำให้พ่อแม่นกไม่กล้าเข้ามาที่รัง และอาจทิ้งรังได้ สังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่นก หากหายไปนานผิดปกติ นั่นแปลว่าคุณต้องถอยได้แล้ว!

4) ไม่ทำให้พ่อแม่นกตกใจหนีไปจากรัง
ทำไม? : การเดินเข้า-ออกบริเวณรังบ่อยๆ และทำให้พ่อแม่นกต้องบินออกจากรัง นอกจากจะเพิ่มความเครียดให้กับนกแล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นรังมากขึ้นด้วย

5) ถ่ายภาพที่กิ่งพัก ก่อน/หลังเข้าป้อน
ทำไม? : เพื่อหลีกเลี่ยงการเฝ้าบริเวณหน้ารังโดยตรง สังเกตกิ่งที่พ่อแม่นกเลือกเกาะก่อนและหลังเข้าป้อน แล้วเฝ้ารอบริเวณนั้นแทน เพื่อลดความเครียดของนก

นกพญาปากกว้างอกสีเงิน (Silver-breasted Broadbill)

การใช้แฟลช & สิ่งล่อ

1) ใช้แฟลชเท่าที่จำเป็น
ทำไม? : นกแต่ละชนิดสามารถทนต่อแสงแฟลชได้ไม่เท่ากัน บางชนิดอาจตกใจและบินหนีไป บางชนิดอาจทนได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ควรใช้เฉพาะเมื่อแสงธรรมชาติไม่เพียงพอจริงๆ เพื่อรบกวนนกให้น้อยที่สุด

2) ใช้เสียงล่อเท่าที่จำเป็น
ทำไม? : การเปิดเสียงเรียกนกอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลทำให้นกทิ้งอาณาเขตได้ ควรใช้เพื่อหาตำแหน่งของนกเป็นหลัก ปิดเสียงเมื่อนกตอบรับ หรือเมื่อเปิดเรียกพักหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ

งด การเปิดเสียงขณะถ่ายภาพที่รัง เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้พ่อแม่นกเครียด และเพิ่มโอกาสในการทิ้งรังและอาณาเขต

3) ใช้อาหารล่อเท่าที่จำเป็น
ทำไม? : ไม่ควรปล่อยให้มีอาหารเหลือเกลื่อนกลาด ไม่ว่าจะเป็นหนอน เมล็ดพืช หรือแมลงอื่นๆ เพราะจะเป็นสิ่งแปลกปลอม (alien species) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และยังเพิ่มโอกาสให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตระหนัก ถึงผลกระทบที่อาจตามมา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจมีการลักลอบเข้ามาดักจับนกได้โดยง่าย

นกตบยุงยักษ์ (Great Eared Nightjar)

ระยะห่างจากตัวนก

1) แค่ไหนคือ “ใกล้” เกินไป?
นกแต่ละชนิดยอมให้เราเข้าใกล้ได้มากน้อยต่างกัน สังเกตพฤติกรรมของนกเป็นหลัก หากนกเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หยุดหากิน หรือบินหนี นั่นแปลว่า คุณอยู่ใกล้เกินไปแล้ว

2) อย่าพยายามไล่ให้นกบิน
ทำไม? : เนื่องจากเป็นการรบกวนและสร้างความเครียดให้กับนก อีกทั้งยังทำให้นกต้องสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น

3) เรียนรู้ พฤติกรรมของนก
ทำไม? : หากเข้าใจพฤติกรรมและอุปนิสัยของนกแต่ละประเภทแล้ว จะทำให้สามารถเข้าใกล้ได้มากขึ้น และรบกวนนกน้อยลง เช่น นกบางกลุ่มจำเป็นต้องใช้บังไพร หรือนกบางกลุ่มอาจต้องย่อตัวเข้าหา

นกกะเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน (Blue-eared Kingfisher)

การเคารพสถานที่

1) ปฏิบัติตามข้อกำหนดของแต่ละสถานที่
คำนึงการใช้สถานที่ทุกครั้งที่เข้าไปถ่ายภาพนก บางพื้นที่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ฯ หรือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งต้องได้รับอนุญาตทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่

2) รักษาความสะอาด
นำขยะกลับออกมาทุกครั้ง ไม่ปล่อยทิ้งเรี่ยราดในบริเวณที่ถ่ายภาพ เป็นสามัญสำนึกที่ทุกคนพึงมี

3) คำนึงถึงผู้อื่น
ในกรณีที่มีคนต้องการเห็น/ถ่ายภาพนกตัวเดียวกันเป็นจำนวนมาก เอื้อเฟื้อและคำนึงถึงคนที่ยังไม่ได้เห็น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของนก คนอื่นๆ ก็ต้องการเห็นและถ่ายภาพไม่ต่างไปจากคุณ

นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Sarus Crane)

การถ่ายภาพเป็นศิลปะ เป็นความชอบส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องถ่ายให้ได้เหมือนคนอื่น ภาพนกที่สวยงามมีหลากหลายรูปแบบ… เรียนรู้ ทำความรู้จักนกให้มากขึ้น ถ่ายภาพที่สะท้อนถึงตัวตนของนกชนิดนั้นๆ เป็นช่างภาพที่รู้จัก เข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อนก เพื่อการถ่ายภาพอย่างมีความสุข และเป็นมิตรต่อนก & ธรรมชาติ