สัตว์ป่า “ไม่” น่าเลี้ยง

โดย วัทธิกร โสภณรัตน์

 

ช่วงนี้หลายคนอาจจะได้เห็นหน้าค่าตาเจ้านกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา (Barred Eagle-owl) กันบ่อยขึ้นจากกระแสดราม่าในตอนนี้ ด้วยความบ้องแบ๊วตาโต ขนดูนุ่มสลวยน่าสัมผัส ทำให้เกิดความนิยมลักลอบจับนกออกจากป่ามาเพื่อขายเป็นสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์แบบนี้ส่งผลให้เกิดแรงกระทบต่อระบบนิเวศอย่างเลี่ยงไม่ได้

นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรานั้นถือเป็นนักล่าบนยอดสุดของห่วงโซ่อาหารตามระบบนิเวศ (top predator) คือเป็นผู้ล่าลำดับสุดท้าย เมื่อโตเต็มวัยแทบจะไม่ถูกล่าโดยสัตว์ชนิดอื่น อาหารการกินนั้นก็มีทั้งหนู กระรอกบิน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ กิ้งก่า แมลงขนาดใหญ่ และนกหลากชนิด

พฤติกรรมการกินที่หลากหลายนี้เองที่ช่วยควบคุมประชากรสัตว์ได้หลายประเภท ส่งผลให้เกิดความสมดุลต่อระบบนิเวศโดยรวม การนำสัตว์ผู้ล่าออกจากระบบนั้นจะส่งผลให้สัตว์ในลำดับขั้นรองลงมาเกิดการขยายประชากรที่เกินขนาด ทรัพยากรพื้นฐาน เช่น พืชอาหาร และแมลงอาหารขาดแคลน ทำให้สิ่งมีชีวิตระดับล่างของห่วงโซ่อาหารจะสูญพันธุ์จากการขยายตัวนี้ ผลกระทบสุดท้ายของเรื่องราวทั้งหมดนั้นคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากขาดสัตว์ที่ทำหน้าที่ควบคุมพืชพันธุ์ชนิดต่าง คือเกิดความล่มสลายของสังคมพืชนั่นเอง

เรื่องราวที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่นิยาย Sci-Fi เกินจริงโดยไร้หลักฐาน เหตุการณ์ความล่มสลายทางระบบนิเวศนี้เรียกว่า Cascade Theory และเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอุทยานแห่งชาติ Yellow Stone ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่ Yellow Stone สูญเสียไปคือ หมาป่า ซึ่งส่งผลกระทบตามมามากมายถึงขั้นที่ทำให้แม่น้ำแห้งเหือด

แล้วเราจะรอให้เป็นแบบนั้นหรือ? หลายๆท่านคงมีคำตอบอยู่ในใจ แต่การกระทำผิดแบบนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งสามารถเอาผิดผู้จับ ผู้ค้า และ ผู้เลี้ยงได้ แต่การจะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์นั้น จำเป็นต้องพึ่งพลังความตระหนักของประชาชนที่เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของธรรมชาติ ไม่ใช่ในฐานะทรัพยากรของชาติ แต่เป็นทรัพยากรของโลก ที่จะช่วยให้โลกของเรายังคงน่าอยู่สำหรับทุกๆ ชีวิต