การดูแลนกบาดเจ็บและลูกนกตกจากรัง

จดบันทึกโดยคุณ Maythira Kasemsant จากการอบรม “วิธีดูแลลูกนกบาดเจ็บและลูกนกตกจากรัง”  ซึ่งจัดโดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST)

บรรยายโดยหมอเบน – น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ นายสัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์ป่าและคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกนกที่เราจะเจอมีอยู่ 3 ประเภท คือ

1.ลูกนกอ่อน – จะมีแต่หนังหรือแค่ขนอุยๆ ยังบินไม่ได้ แต่ดันตกจากรังมาซะก่อน

กรณีนี้ ให้มองหารังเดิมของมัน ถ้าเจอก็อุ้มกลับคืนรังซะ

แต่ถ้าไม่เจอก็สร้างรังเทียมขึ้นมา อาจเป็นตะกร้าที่น้ำฝนไหลผ่านได้ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ ถ้าพ่อแม่นกยังอยู่เดี๋ยวมันก็กลับมาดูแลลูก (อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.birdscomefirst.net/)

(ป.ล. คนไม่ควรไปเฝ้าประชิดรังนก เพราะจะทำให้พ่อแม่ไม่กล้ากลับมาหาลูก ควรแอบดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ จะดีที่สุด)

 

 

2.ลูกนกหัดบิน – ยังบินไม่เก่ง ก็เลยพลาด

 

กรณีนี้ มักมีพ่อแม่นกอยู่แถวๆ นั้น  ให้แอบซุ่มรอดูสักพัก สัก 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีพ่อแม่นกมาจริงๆ ค่อยเก็บไปดูแล

(แต่ต้องแอบซุ่มนะ เพราะถ้าใกล้ลูกนกเกิน พ่อแม่ก็จะไม่กล้าเข้ามาอยู่ดี)

 

 

3. ลูกนกกำพร้า ค่อนข้างโตแล้ว แต่ไม่มีพ่อแม่และยังดูแลตัวเองไม่ได้ ก็เก็บกลับมาช่วยดูแลเบื้องต้น แล้วค่อยปล่อย

 

 

 

 

 

 

คราวนี้เข้าเรื่อง… เมื่อรู้แน่ชัดว่าลูกนกตัวนั้น ไม่มีพ่อแม่รับกลับไปจริงๆ เราก็เก็บใส่กล่องกลับมาบ้าน (ถ้าขับรถ – ควรหาผ้าหรือฟางหรืออะไรรองกล่องซักนิด ไม่งั้นลูกนกมันจะลื่นไปลื่นมาอยู่ในกล่อง เบรกทีนกหัวทิ่ม 555)

ทีนี้ พอถึงบ้าน ขั้นแรกที่ต้องทำก่อนให้อาหารคือ – จำแนกชนิดนกให้ได้ว่าเป็น “นกอะไร” เพื่อให้อาหารได้ถูก

ถ้าไม่รู้ ก็ถ่ายรูปแล้วโพสต์ถามเลย ที่เฟซบุ๊กสมาคม BCST : https://www.facebook.com/bcst.or.th

** ข้อควรระวัง**  :  ไม่ควรให้อาหารเด็กประเภท “ซีรีแลกซ์” หรือ “นม”  เพราะนกไม่มีเอนไซม์สำหรับย่อยโปรตีนในนม อาจทำให้นกขี้แตกส์ได้ และพวกอาหารประเภทนี้โปรตีนต่ำมาก ในขณะที่ลูกนกต้องการโปรตีนสูงกว่านั้นมาก

ส่วนอาหารสำเร็จรูปของนกที่วางขายกันนั้น ก็ใช้ได้กับนกบางชนิดเท่านั้น

ซึ่งวิธีการให้อาหาร ก็จะแบ่งตามประเภทนกหลักๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้

 

[1]

กลุ่มนกเขา, นกพิราบ

– จุดเด่นของนกกลุ่มนี้ คือมีกระเพาะพักอาหาร ทำให้ป้อนได้คราวละเยอะหน่อย ไม่ต้องป้อนบ่อย

– ชนิดของอาหาร : ถ้ายังเด็กๆ ปากนิ่มๆ ให้อาหารสำเร็จของพวกนกแก้ว นกขุนทอง นกปากขอ  (ชงกับน้ำอุ่น ไม่ใช่น้ำร้อน เพราะไม่งั้น วิตามินต่างๆ จะสลายตัวหมด ทิ้งไว้ให้ได้อุณหภูมิห้อง ก็ป้อนได้ อย่าให้หนืดเกินไป ควรชงใหม่ทุกครั้งที่ป้อน ไม่ควรขี้เกียจแบบชงเหลือแล้วใส่ตู้เย็นไว้ อาหารประเภทนี้ไม่เหมาะที่จะทำแบบนั้น)

– ปริมาณที่ให้ :   ง่ายสุดคือ ชั่งน้ำหนักนกว่าหนักเท่าไหร่ แล้วให้อาหาร 10 cc ต่อน้ำหนักนก 100 กรัม (ต่อมื้อ)

– ความถี่ของการให้ :  4 มื้อต่อวัน

– อุปกรณ์ที่ใช้ : เข็มฉีดยาที่ต่อกับท่อให้อาหาร (feeding tube)

– ถ้าเป็นนกเด็กมากๆ มันจะอ้าปากรอ แต่ถ้าโตมาหน่อย มันจะไม่ยอมอ้าปากแล้ว แต่จะจิกๆๆ เราก็ต้องใช้วิธีบังคับ จับอ้าปาก แล้วดึงคอให้ยืดขึ้นหน่อยเพื่อให้หลอดอาหารตรง แล้วสอด feeding tube เข้าไปแล้วฉีดอาหาร (ต้องสอด feeding tube ลึกหน่อย ไม่งั้นอาหารจะทะลักออกมา)

– ถ้าลูกนกโตขึ้นจนปากเริ่มแข็งแล้ว เริ่มจิกอาหารกินเองได้ ก็เริ่มให้เมล็ดธัญพืช (แต่ถ้าเป็นนกเขาเปล้า – ให้กินพวกผลไม้ กล้วยขูดก็ได้ หรืออาหารนกแก้วโนรี)

ลูกนกเขา/นกพิราบ

[2]

กลุ่มนกเอี้ยง, ปรอด, กระจอก, นกกินแมลงอื่นๆ (รวมทั้งนกที่ตอนโตกินลูกไม้ ตอนเด็กๆ มันก็ต้องการโปรตีนเพื่อเติบโตเช่นกัน – ขมิ้น, กินปลี, โพระดก ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้)

– พวกนี้จะไม่มีกระเพาะพัก ทำให้ต้องป้อนอาหารบ่อยมาก แต่เลี้ยงรอดง่าย

– ชนิดอาหาร :  หนอนนก (จตุจักรก็มีขาย) แต่ก่อนให้ต้องทำให้หนอนตายก่อน ไม่งั้นหนอนจะกัดทางเดินอาหารของลูกนก, อาหารนกขุนทอง เม็ดๆ แช่น้ำ (ควรแช่ครั้งละพอใช้ต่อชั่วโมง)

( ** ข้อควรระวัง**  : อาหารหมาแช่น้ำ เป็นสิ่งที่แก้ขัดได้เฉยๆ แต่ไม่ควรให้ตลอด เพราะอาหารพวกนี้มีธาตุเหล็กสูง และนกเป็นสัตว์ที่ไม่ทนต่อการสะสมของธาตุเหล็ก สุดท้ายนกก็จะป่วยตาย)

–  ความถี่ในการให้ :  พวกนี้ถ้าหิว มันจะอ้าปากขออาหารเป็นดอกไม้บานเลย เห็นดอกไม้บานเมื่อไหร่ ก็หยอดหนอนใส่ปากได้ทันที  ซึ่งจะถี่มาก ถ้ามันอิ่ม มันก็จะไม่กินเองแหละ

– ไม่ต้องให้น้ำ เพราะในอาหารเม็ดมันมีน้ำอยู่แล้ว

– ถ้าเป็นลูกนกอ่อนมาก ขนยังไม่ขึ้น พวกนี้จะสูญเสียความร้อนง่าย ควรหารังที่มิดชิด เช่น กล่องเจาะรูปิดฝา (ส่วนใหญ่ในเมืองไทยถ้าอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป ก็โอเคแล้ว ไม่ต้องเปิดไฟกกก็ได้)

( **ข้อควรระวัง**  แม้แต่ลูกนกกินปลี ก็ควรให้อาหารตามแบบข้างต้นนี้ เมื่อโตแล้วค่อยให้น้ำหวาน เพราะถ้าให้แต่น้ำหวานแต่เด็ก มันจะขาดโปรตีน โตขึ้นอาจบินไม่ได้)

ลูกนกปรอดสวน
ลูกนกปรอดหัวโขน
ลูกนกขมิ้นน้อยธรรมดา
ลูกนกเอี้ยงสาริกา
ลูกนกกระติ๊ด
ลูกนกกระจอกบ้าน
ลูกนกกาเหว่า
ลูกนกกินปลีคอสีน้ำตาล

[3]

กลุ่มนกเค้า

– ไม่มีกระเพาะพัก แต่กระเพาะแท้ใหญ่มาก ทำให้ไม่ต้องกินบ่อย ดูแลง่าย

– ชนิดอาหาร : หนอนนก, จิ้งจก, ซี่โครงไก่สับพร้อมเนื้อไก่, ถ้าโตหน่อยก็อาจกินลูกหนูได้ ฯลฯ

** ข้อควรระวัง **  ไม่ควรให้เนื้ออย่างเดียว (แบบให้เนื้อไก่ แต่ไม่ให้กระดูก) เพราะปกติในร่างกายจะมีระดับความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่ ถ้าเราให้แต่เนื้อสัตว์อย่างเดียวซึ่งมีฟอสฟอรัสมาก ทำให้สมดุลแคลเซียม-ฟอสฟอรัสเพี้ยนไป ร่างกายนกก็จะไปดึงแคลเซียมในกระดูกออกมา ส่งผลให้กระดูกผุ (ศัพท์วิชาการเรียกอะไรจำไม่ได้ละ) ซึ่งอาจทำให้นกบินไม่ได้ หรือเท้ารับน้ำหนักตัวไม่ได้

(รู้ได้ยังไงว่าแค่ไหนถึงพอดี – ง่ายๆ ก็คือเลือกอาหารที่กินทั้งตัวได้ อย่างหนอน จิ้งจก หรือสับเนื้อพร้อมกระดูกให้นั่นล่ะ)

– ความถี่ในการให้ขึ้นกับชนิดอาหารและช่วงวัยของนก

– พวกนกเค้าแมวจะตัวเล็ก บางทีซื้อหนอนมาขีดนึง นกกินไม่ทัน หนอนกลายเป็นดักแด้หมด เคล็ดลับก็คือ ให้แบ่งหนอนออกมาส่วนนึงที่พอใช้ ใส่กระบะเลี้ยงด้วยผัก (ซึ่งก็จะให้วิตามิน ซึ่งจะส่งตามห่วงโซ่อาหารไปถึงนก) ส่วนหนอนที่เหลือก็เก็บเข้าตู้เย็น (ช่องธรรมดา ประมาณ 4 องศาเซลเซียส) หนอนจะจำศีล  (อันนี้หมายถึงหนอนนก ไม่ใช่หนอนยักษ์) (หนอนยักษ์คือหนอนอีกขนาดที่ตัวบิ๊กเบิ้มกว่า)

ลูกนกเค้ากู่

[4]

กลุ่มนกโพระดก

– กลุ่มนี้ทำรังในโพรงลึก ไม่ค่อยเจอตกจากรัง ยกเว้นพายุพัดจนกิ่งไม้หัก หรือคนไปโค่นต้นไม้

– แต่จะเจอบ่อยประเภทหัดบิน ซึ่งอย่างที่บอก – แอบๆ ดูไว้ เดี๋ยวพ่อแม่นกมักมารับไปเอง

– แต่ถ้าไม่มีพ่อแม่นกจริงๆ และต้องเก็บมาเลี้ยง  ก็เขวี้ยงกล้วย เขวี้ยงมะละกอให้ได้เลย เดี๋ยวมันจัดการเอง หรืออาจหาลูกไม้แถวนั้นที่เป็นอาหารที่มันจะหาเองได้ในธรรมชาติ เช่นลูกตะขบ โยนให้มันกินเพื่อฝึกไว้ พอปล่อยมันจะได้หากินเองได้

ลูกนกตีทอง (นกโพระดกชนิดหนึ่ง)

[5]

อื่นๆ

– นกกวัก, กระแตแต้แว้ด : พวกนี้เวลาตกใจจวนตัว มันจะนั่งนิ่ง เหมือนบาดเจ็บ แต่ที่จริงไม่ใช่ ให้ปล่อยไว้ เดี๋ยวแม่มันตามมาเอง (แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บ ก็พวกหนอนนก, อาหารไก่)

ลูกนกกวัก

– เป็ด : ให้อาหารเป็ดละลายน้ำ ความยากของการเลี้ยงพวกนี้คืออุณหภูมิ เพราะปกติมันจะชอบซุกใต้ปีกแม่ เราก็อาจตั้งโคมไฟช่วย (กระบะเลี้ยงให้กว้างๆ มีจุดหนึ่งตั้งโคมไฟ ถ้ามันร้อนมันก็ออกมาเอง)

ลูกเป็ดเล็กๆ ยังไม่จำเป็นต้องให้เล่นน้ำ เพราะบางคนนึกว่าเป็ดชอบน้ำ ตั้งถาดน้ำไว้ ลูกเป็ดก็ดันไปเล่น ขึ้นมาหนาวตายเพราะไม่มีแม่ช่วยไซ้ขน

แต่ถ้าโตขึ้นหน่อย เราก็อาจให้อาหารไว้ในน้ำ เพราะปกติมันจะหากินในน้ำ แต่มันก็ขี้ในน้ำด้วย ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยมาก

ลูกเป็ดแดง

– นกแอ่น : ถ้าเห็นมันตกอยู่ที่พื้น ให้รู้ไว้ว่านกพวกนี้จะบิน take off จากพื้นไม่ได้ ถ้าสังเกตแล้วว่าปีกยังปกติ ไม่บาดเจ็บอะไร ให้ขึ้นไปบนระเบียงตึก แล้วปล่อยมันบินไป (ไม่ต้องโยนนะ วางไว้บนมือ เดี๋ยวมันจะบินไปเอง)

(แต่ถ้าแอ่นบาดเจ็บและเป็นนกเต็มวัย ต้องให้อาหารเหลวอย่างเดียว เพราะหลอดอาหารมันมีหูรูด ซึ่งปกติมันจะบินโฉบกินแมลงกลางอากาศ)

ลูกนกแอ่นบ้าน

– นกยาง :  เวลาให้ปลา ต้องให้ทั้งตัว (ห้ามแกะเอาก้างออกด้วยความหวังดี ไม่งั้นมันจะขาดแคลเซียม)  ถ้าโตหน่อย ก็ใส่ปลาเป็นๆ ในถาดน้ำ  ให้มันฝึกจับปลากินเอง

– พวกยางไฟหรืออ้ายงั่ว เวลาจับต้องระวังดีๆ ไม่งั้นมันจะฉก (คือยืดคอมาฉก ไม่ใช่กัด และปากมันแหลมมาก ดังนั้นถ้าตอนที่จับไปส่งหมอ หาผ้าหรือหลอดมาครอบปากไว้ก็ดี)

– นกชายเลนบางชนิด เช่น โป่งวิด ต้องกลบหนอนไว้ใต้ทราย มันถึงจะกิน วางหนอนให้เฉยๆ ไม่กินนะจ๊ะ

– นกตบยุง – พวกแมลงผง ที่เขียนว่า insect-pro (หายากหน่อย ของต่างประเทศ)

 

[6]

อาการบาดเจ็บต่างๆ

– นกเป็นแผล เช่น แมวกัด  ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือทาแผลด้วย silver nano  ส่วนเบตาดีน มีประวัติว่านกหลายตัวก็แพ้

– นกบินชนกระจก (ซึ่งมีเยอะมากกกกก  แต้วแล้ว 9 ใน 10 ที่ถูกส่ง รพ. มาจากสาเหตุนี้ และกว่าครึ่งไม่ยอมรับอาหารในกรงเลี้ยง รับแต่น้ำ)  วิธีช่วยคือ ปล่อยไว้เฉยๆ ให้มันหายมึนสักพัก พอมันดีขึ้น มันก็บินไปต่อได้เอง แต่ถ้าชนหนักจนสมองกระเทือน (ดูจากการทรงตัวที่ผิดปกติ) ก็ส่งหมอ  แต่ทางที่ดีควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า

– นกติดกาวดักหนู  ถ้าไม่เยอะก็ใช้เบบี้ออยล์เช็ด ถ้าเยอะก็อาจต้องถอนขนในส่วนนั้น

– เหยี่ยวป่วยบางตัวไม่ยอมกินอาหาร ถ้าไม่รู้สาเหตุ ลองจับมันอ้าปากดู เคยพบเคสที่ในคอเต็มไปด้วยหนองจนกลืนอาหารไม่ได้ ให้ส่งหมอ ซึ่งอย่างนี้ต้องให้อาหารเหลวที่เขียนว่า carnivore Care (ของต่างประเทศเช่นกัน)

** บางคนกลัวว่า การจับนก เราจะติดเชื้อโรคจากนกมั้ย เช่น ไข้หวัดนก ซึ่งคุณหมอบอกว่า ถ้าไม่จับนกมาจูบปาก โอกาสก็น้อยมาก แค่จับเชื้อโรคไม่ติดหรอก ยกเว้นแต่คนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออยู่ในฟาร์มไก่ที่ได้รับเชื้อพวกนี้มาจนเต็มขีดแล้ว หรือแม้แต่เชื้อบางตัวที่ก่อให้เกิดโรคหนักในนก พอมาสู่คนก็อาจทำให้เกิดแค่โรคกระจอกๆตัวนึง ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไรเลย

และสุดท้าย(อันนี้เราเขียนเอง)… เมื่อพยาบาลเบื้องต้นจนนกแข็งแรงดีแล้ว ก็ควรปล่อยนกไปในพื้นที่ที่มีอาหารตามธรรมชาติของนกประเภทนั้น  อย่าให้ความผูกพัน มาทำให้เรากักขังเขาไว้ในกรงตลอดชีวิตเลยนะ

แม้นอกกรงจะเสี่ยง แต่นั่นมันก็คือชีวิต

นกจะสวยงามและมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อมันมีอิสระและได้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ  มากกว่าที่จะเป็นแค่เพียงสิ่งมีชีวิตสีสวยร้องได้ที่อยู่ในกรงทอง เพื่อตอบสนองความสุขส่วนตัวของคน

ฟังคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FHlxf3hc1YAhttps://www.youtube.com/watch?v=5Khmqhy03w8https://www.youtube.com/watch?v=rzCab_vMiKQ

ขอขอบคุณภาพประกอบโดย คุณกฤษณศักดิ์ สิงห์คำ, วรพจน์ บุญความดี และ หน่วยช่วยเหลือนกป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์