การค้านกป่า… เมื่อธรรมชาติถูกย่ำยี (1)

โดย เพชร มโนปวิตร

เช้าวันหนึ่งต้นเดือนพฤศจิกายน ภาพซากนกเงือกหัวแรด 3 หัวถูกเผยแพร่กันเต็มหน้าฟีดของเพื่อนๆ ในแวดวงอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยภาพดังกล่าวถูกโพสต์โดยคนที่ใช้ชื่อว่า “อยากเลี้ยงอะไร ผมหาให้ดีไหม” ลงใน “กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์แปลก Legal Exotic Pets Keeper”  ประกาศขายหัวนกเงือกหัวแรด หัวละ 2,900 บาท ระบุด้วยว่า ถ้าเหมา 3 หัว 6,900 บาท พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่ออย่างชัดเจน  0627012708

 

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าได้รับข้อความฟอร์เวิร์ดอีเมลจากผู้จัดการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยในเวลานั้น ระบุถึงการประกาศขายลูกนกเงือกหัวแรดอย่างเปิดเผยในเว็บไซต์ขายของมีชื่ออย่าง pantipmarket

http://www.pantipmarket.com/view.php?id=P4973615P4973615 หัวแรด นกเงือกหัวแรด หายากมากๆ เลี้ยงตั้งแต่ลูกป้อน อายุ 2 ปี เชื่องสุดๆ ราคา: 12000 บาท สนใจติดต่อคุณ: สุรเชษฐ์ ธิติมุทา IP 58.8.115.78 ได้ที่ โทร/e-mail: 09-85053xx  /adisex20xx@yahoo.com (ต้นไม้ / สัตว์เลี้ยง,นก,นก) [ 2 พ.ย. 2549.23:51:33 ]

 

ทั้งหมดคือข้อความประกาศขายนกเงือกหัวแรด นกเงือกหายากที่สุดชนิดหนึ่งของบ้านเราอย่างเปิดเผยทั้งเแบบเป็นและตาย นกเงือกหัวแรดเป็นนกขนาดใหญ่มีโหนกสีส้มแดงขนาดใหญ่งอนขึ้นคล้ายนอแรด เป็นนกเงือกที่อาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบทางตอนใต้สุดของประเทศเช่นบริเวณอุทยานแห่งชาติทะเลบัน อุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา แน่นอนว่านกเงือกหัวแรดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดค้าหรือครอบครอง

 

เราสามารถพบการประกาศขายนกและสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อย่างเปิดเผยขึ้นทุกทีในโลกออนไลน์ จากข้อความบนเว็บบอร์ด ตอนนี้ก็ลามมาสู่เฟสบุ๊ค โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก บางตัวอย่างที่พบเห็นได้

 

– กระรองทองแก้มขาว มี 2 ตัว ขายตัวละ 2,000 เป็นนกหายาก ร้องเสียงเพราะมากๆ มาก่อนได้ก่อน ติดต่อสุรเชษฐ์

– กางเขนดงใต้ 2,000 นกแก้วหกใหญ่ 1คู่ 2,500 นกเขาลายเล็ก 7000 ติดต่อยอดชาย

– นกขุนแผน เข้าคู่แล้ว 3 คู่ นกอยู่จันทบุรี สำหรับคนจันทบุรีหรือใกล้เคียง เชื่อง เลี้ยงคู่ละกรง คู่ละ 1,500 บาท ติดต่อเหลืองจันทร์

 

ทุกข้อความต่างบรรยายสรรพคุณสินค้าอย่างน่าดึงดูด พร้อมกับราคาและรายละเอียดสำหรับการติดต่ออย่างครบถ้วน ทั้งเบอร์โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ อีเมล จนน่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายมัวไปทำอะไรอยู่

 

มันทำให้ผมย้อนนึกไปถึงนกแต้วแล้วยักษ์ตัวเมียที่ถูกนำมาวางขายอย่างโจ๋งครึ่มกลางตลาดนัดซันเดย์ สวนจตุจักร เมื่อสิบสองปีที่แล้วซึ่งคนขายไม่ได้ปิดบังหรือรู้สึกผิดแต่อย่างใด  น่ารักนะจ๊ะ หายากมากเลยนะตัวนี้ เพิ่งได้มาจากยะลา สองพันเก้าเองเอามั๊ย แม่ค้าเอ่ยปากเชิญชวนผม มันเป็นฝันร้ายกลางวันแสกๆ ของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าเพราะนกชนิดดังกล่าวเป็นนกป่าประจำที่ราบต่ำที่หายากที่สุดชนิดหนึ่ง แน่นอนที่สุดว่านกแต้วแล้วตัวนั้น และนกอื่นๆ อีกมากมายถูกจับมาจากป่า

 

แม้ในปัจจุบันนกบางชนิดในประเทศไทยจะได้รับการยกเว้นให้มีการเพาะเลี้ยงได้ แต่การค้านกป่าส่วนใหญ่ยังคงเป็นกิจกรรมผิดกฎหมายที่คุกคามความอยู่รอดของนกในธรรมชาติ เพราะตามประกาศกฎกระทรวงปี พ.ศ. 2546 ที่กำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ มีนกจำนวน 42 ชนิดเท่านั้น จากนก 952 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้รับการยกเว้นให้มีการเพาะพันธุ์ได้ และทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

การอนุญาตให้มีการเพาะเลี้ยงนกบางส่วนแม้จะเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาการเลี้ยงสัตว์ป่าที่เรื้อรังตามสภาพความเป็นจริง แต่ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการลักลอบนำนกหายากจากป่าเข้ามาขายปะปนด้วยเสมอ หรือมีการนำนกที่จับมาจากธรรมชาติมาขายแทนเพราะต้นทุนถูกกว่าการเพาะเลี้ยง

 

ทุกวันนี้ขบวนการลักลอบค้านกป่านับเป็นปัญหาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์ เป็นขบวนการทำลายธรรมชาติที่ยังรอให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

 

 

แกะรอยพรานดักนก  

 

 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นตอของปัญหาการค้านกป่าแท้จริงแล้วคือความต้องการและค่านิยมในการเลี้ยงนก จะกล่าวว่าเป็นวัฒนธรรมโบราณที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยมนุษย์เพิ่งเริ่มจะหัดเดินสองขา หลังตั้งตรงก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะในสมัยโน้นมนุษย์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและคุ้นชินกับการพึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์จากป่าเป็นหลัก สัตว์ชนิดไหนใช้การได้ดี มีลักษณะสวยงามก็ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง ครั้นมนุษย์เริ่มต้นอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งชุมชนเมืองจึงเกิดขึ้น และเกิดความต้องการที่จะมีส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่ใกล้ๆ  สมัยก่อนไม่มีสัตว์เลี้ยงอย่างเช่นทุกวันนี้ การจับสัตว์จากธรรมชาติมาเป็นสัตว์เลี้ยงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และกลายเป็นค่านิยมฝังลึกสืบทอดกันมา

 

แปลกแต่จริงที่มนุษย์มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีขึ้นมากมาย แต่ค่านิยมบางอย่างก็ยังดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน แม้เราจะรู้แล้วว่า ทุกวันนี้ธรรมชาติหาได้สมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ผืนป่ากว้างใหญ่ถูกบุกรุกทำลายเหลือเพียงหย่อมเล็กหย่อมน้อย สัตว์ป่าที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ร่อยหรอและทยอยสูญพันธุ์กันไปทีละชนิดๆ รู้ทั้งรู้ว่ามนุษย์เป็นสาเหตุ เป็นตัวการของความเสื่อมโทรมลงของธรรมชาติและสัตว์ป่า แต่มนุษย์กลุ่มหนึ่งก็ยังคงหากินและกอบโกยผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไม่ทุกข์ร้อน

 

เมื่อค่านิยมในการครอบครองสัตว์ป่าเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงยังคงอยู่ ตลาดค้าขายสินค้าดังกล่าวย่อมไม่หายไปไหน “สัตว์เลี้ยง” ในความหมายนี้จึงหมายถึง “สัตว์ป่า” ทั้งที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงและได้มาจากการจับในธรรมชาติ นกป่าที่ร้องเพลงได้เพราะ (Songbird) เป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมเช่นนกกระราง นกปรอด นกกางเขนดง ส่วนนกที่มีสีสันสดใสมีลักษณะสวยงามเหมาะสำหรับการตกแต่ง (Ornamental Cage bird) ก็เป็นอีกกลุ่มที่ไม่น้อยหน้า เช่น นกขุนแผน นกโพระดก ในขณะเดียวกันนกหายากดูสูงค่า (Novelty pet) ราคาแพงก็เป็นที่ต้องการของผู้สะสม เพื่อเป็นการแสดงฐานะทางสังคม ยิ่งหายากและห้ามซื้อห้ามขายก็ยิ่งทำให้นกชนิดนั้นราคาแพงเป็นที่ต้องการมากขึ้นไปอีก แถบบ้านเราคงเป็นพวกนกเงือก หรือนกที่นานๆ จะมีการจับได้สักครั้งอย่างเช่น นกแต้วแล้ว เหยี่ยว  ในระดับโลกแม้แต่นกที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติเช่นนกแก้ว Spix’s Macaw ในอเมซอน ซึ่งเหลือประชากรในที่เพาะเลี้ยงไม่กี่สิบตัว ก็มีการลักลอบนำมาขายกันในตลาดมืดด้วยราคาสูงลิบลิ่ว

 

การจับนกเพื่อการค้ามีเทคนิคหลายแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับนกชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะจับนกชนิดอะไรได้ก็มักจะมีพ่อค้าคนกลางรับซื้อเสมอ และสิ่งที่พรานดักนกเรียนรู้ก็คือ ยิ่งหายาก หรือมีลักษณะแปลกๆ เท่าไหร่ก็ยิ่งขายได้ราคาดี คนรับซื้อก็ดีใจเพราะสามารถสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองได้ว่ามีของหายากมาจำหน่าย การดักนกและจับสัตว์ส่วนใหญ่จึงยึดหลัก อะไรก็ได้ ถ้าได้ตัวหายากก็ถือว่าวันนั้นโชคดีไป

 

เทคนิคหลักๆ สามประการในการจับเป็นนกเพื่อนำมาขายคือการใช้ตาข่าย (Net) กาวดัก (Lime) และแร้วดักขา (leg-snare) นอกจากนี้วิธีดั้งเดิมอีกแบบหนึ่งที่นิยมใช้ก็คือการขโมยลูกนกจากรังโดยเฉพาะ นกแก้ว นกเงือก นกขุนทอง เหยี่ยว นกอินทรี และนกฮูก พรานดักนกมักรู้ตำแหน่งประจำของรังนก และเข้าไปขโมยเก็บลูกนกเป็นประจำทุกปี  มีรายงานว่าเหยี่ยวขาวถูกจับจากรังตั้งแต่ยังเป็นลูกนก และพบว่ารังของนกแขกเต้าบนต้นไม้สูงในกลุ่มตะแบก ( Lagerstroemia sp. ) บริเวณถนนด้านทิศเหนือก่อนถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ล้วนพบว่ามีทอยไม้ซึ่งชาวบ้านตอกเป็นบันไดไต่ขึ้นไปยังรังเพื่อเก็บลูกนก นอกจากนี้มีรายงานว่าบางครั้งคนจับนกมีการใช้ไม้ชุบกาวดักยื่นลงไปในโพรงให้ลูกนกติดแล้วจึงดึงเอาตัวลูกนกขึ้นมา

 

การใช้ตาข่าย: พรานดักนกมักขึงตาข่ายดักในจุดสำคัญๆ เช่นต้นไทรที่กำลังมีผลสุกหรือแหล่งน้ำเพื่อจับนกในขณะบิน ส่วนนกที่หากินตามพื้นดินหรือผิวน้ำเช่น นกเป็ดน้ำ นกอัญชัน ตาข่ายมักจะถูกขึงไว้ในพงหญ้าหรือกอกก หลังจากนั้นก็ให้คนไล่ให้นกตกใจและบินเข้าไปติดในตาข่าย ตัวอย่างนกที่ดักได้ด้วยวิธีนี้ ได้แก่ เป็ดแดง นกกะรางหัวหงอก นกขุนทอง นกกระติ๊ด นกกระจอกชวา นกชายเลน ตาข่ายดักนกสามารถพบเห็นได้ง่ายตามที่โล่งรอบกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ในที่ราบภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นตาข่ายสำหรับดักนกเขาใหญ่หรือนกเขาหลวง Spotted Dove มีการใช้ตาข่ายดักนกกระติ๊ดแดง Red Avadavat ที่มีนบุรีและลาดกระบัง ชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ

 

การใช้กาวดัก: เทคนิคที่นิยมใช้คือการใช้นกต่อ อาจจะผูกไว้กับต้นไม้หรือใส่กรงไว้ หลังจากนั้นก็ทากาวดักนกให้ทั่วกิ่งก้านสาขา รวมไปถึงบนพื้นบริเวณนั้น เมื่อนกต่อเริ่มส่งเสียงร้อง นกอื่นๆที่อยู่ในบริเวณจะเข้ามาดู ซึ่งอาจต้องการขับไล่ให้ไปจากอาณาเขต หรืออาจเข้ามาดูว่ามีแหล่งอาหารที่น่าสนใจหรือไม่ อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้กาวดักทาให้ทั่วไม้แล้วนำไปติดตั้งไว้ในบริเวณที่นกใช้ประโยชน์เช่น ใกล้แหล่งน้ำ บนต้นไทรที่กำลังมีลูก นกที่เข้ามาติดกาวจะถูกคนดักแกะให้หลุดออก ซึ่งบางครั้งขั้นตอนนี้อาจทำให้นกบาดเจ็บได้ นกที่ถูกจับด้วยวิธีนี้บ่อยๆ ได้แก่ นกกางเขนดง นกกางเขนบ้าน นกเดินดงหัวสีส้ม นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกโพระดก

 

การใช้แร้วดักขา: แร้วแบบนี้ทำด้วยลวดเส้นเล็กๆ ดักไว้ตามทางเดินสัตว์ในป่าซึ่งนกหากินบนพื้นขนาดใหญ่มักจะใช้ พรานจะติดตั้งแร้วในระดับที่จับขาได้พอดีโดยไม่ทำอันตรายนกถึงชีวิต แร้วประเภทนี้อาจใช้ดักในรังเหยี่ยวหรือนกอินทรีเพื่อจับนกตัวเต็มวัยด้วย ตัวอย่างนกที่จับได้ด้วยวิธีนี้ได้แก่ นกกระทาดง ไก่ฟ้า นกหว้า และเหยี่ยวต่างสี

 

แต่ไม่ว่าจะจับด้วยวิธีใดก็ตามต้องไม่ลืมว่า นกที่ถูกจับมาจากธรรมชาติส่วนใหญ่มีอัตราการตายสูงมาก ทั้งจากภาวะความเครียด การบาดเจ็บระหว่างการขนส่ง สภาพแวดล้อมที่ผิดธรรมชาติ และนกจำนวนมากยังถูกลักลอบจับในขณะที่ยังเป็นลูกนกซึ่งทำให้โอกาสรอดยิ่งน้อยลงไปอีก นกที่รอดชีวิตมาอยู่ในกรงวางขายอยู่ในตลาดเป็นตัวแทนของนกนับสิบนับร้อยชีวิตที่ตายระหว่างทาง

 

การล่าและดักจับนกจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชากรของนกชนิดนั้นๆ ยิ่งถ้าเป็นนกหายากการสูญเสียประชากรด้วยสาเหตุดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของประชากรกลุ่มนั้นๆ ได้ เช่นการลักลอบจับนกแต้วแล้วท้องดำเพื่อส่งขายในอดีต นอกจากนี้นกส่วนใหญ่ล้วนมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ การสูญเสียประชากรของนกดังกล่าวอย่างผิดธรรมชาติ ย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่มากมาย เช่น ทำให้ป่าเสื่อมโทรมลงอันเนื่องมาจากการขาดสัตว์ที่ทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์ ขาดสัตว์ที่ควบคุมปริมาณแมลงหรือศัตรูพืชในธรรมชาติ หรือขาดสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร มีงานวิจัยหลายชิ้นจากป่าเขตร้อนในอเมริกาใต้ยืนยันเกี่ยวกับผลกระทบลูกโซ่อันเนื่องมาจากสัตว์ป่าถูกล่าจนระบบนิเวศนั้นๆ ล่มสลาย

 

ผลกระทบที่ชัดเจนอีกอย่างของการดักและล่านกก็คือ ทำให้นกมีพฤติกรรมหวาดระแวงสูง ป่าที่มีการล่าและการดักนกมากๆ จึงมักจะพบและเห็นตัวนกได้ยากมาก หลายๆ ครั้งที่เราเดินในป่าเขียวครึ้มดูอุดมสมบูรณ์แต่กลับพบเพียงความเงียบสงัด นักชีววิทยาภาคสนามนิยามป่าที่ไร้ร่องรอยของสัตว์ป่าว่าเป็น “ป่าที่ว่างเปล่า” หรือ Empty Forest ซึ่งกำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในป่าอนุรักษ์หลายๆ แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายความว่า ผืนป่ายังคงอยู่ แต่นกและสัตว์ป่าหลายชนิดตกอยู่ในภาวะวิกฤติจนไม่อาจทำหน้าที่รักษาสมดุลตามธรรมชาติได้อีกต่อไป ซึ่งในที่สุดย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าในระยะยาว

 

ป่าใดที่ไร้เสียงร้องของนก นอกจากจะขาดเสน่ห์แล้วยังขาดชีวิต และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า อนาคตของป่าผืนนั้นจะเป็นเช่นไร

 

ตลาดนัดจตุจักร…สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง  

 

เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ที่ตลาดนัดสวนจตุจักรถูกตราหน้าจากวงการอนุรักษ์ทั่วโลกว่า เป็นแหล่งค้าขายนกและสัตว์ป่าขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ แม้จะมีความพยายามกวาดล้างกันหลายครั้ง หลายยุคหลายสมัย แต่ในมุมหนึ่งสวนจตุจักรยังกลับมาเป็นฝันร้ายของวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าอยู่เสมอ

 

ความจริงตลาดนัดวันอาทิตย์ของกรุงเทพฯ นั้น เป็นสถานที่ซึ่งมีการค้าขายสัตว์ป่าจนเป็นที่รู้จักกันมานาน เดิมทีตลาดนี้ใช้สนามหลวง หรือทุ่งพระเมรุ หน้าพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่ค้าขาย จนถูกย้ายมาที่บริเวณสวนจตุจักรช่วงปลายปีพ.ศ. 2524 การที่ตลาดย้ายมายังสถานที่ซึ่งกว้างขวาง ทำให้เกิดการขยายตลาดครั้งใหญ่ จำนวนร้านขายสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หน่วยงานของรัฐหลายแห่งซึ่งมีที่ดินอยู่บริเวณใกล้เคียง ได้อนุญาตให้เอกชนเข้าดำเนินการใช้พื้นที่โดยรอบสวนจตุจักร เพื่อให้ผู้ค้ารายย่อยได้เช่าทำประโยชน์ต่อ อันทำให้เกิดตลาดนัดเอกชนใหม่ขึ้นอีกสองแห่งคือ ตลาดนัดซันเดย์ และตลาดนัดจตุจักรพลาซ่า พื้นที่ดังกล่าวยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ร้านค้าที่เกิดขึ้นหลายร้านจึงอยู่ในสภาพแออัด และกลายเป็นแหล่งชุมนุมของร้านค้าที่ลักลอบขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย มากกว่าบริเวณตลาดนัดหลักเสียอีก

 

ช่วงปีพ.ศ. 2530-31 มีการสำรวจพบนกป่าวางขายในจตุจักรถึง 276 ชนิดเป็นจำนวนกว่า 70,000 ตัว ร้อยละ 95 ของนกทั้งหมดเป็นชนิดที่พบในประเทศไทย นอกจากนั้นยังพบซากสัตว์ป่าวางขายอย่างเปิดเผยมากมายโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พวกเขาสัตว์ หนังเสือ แต่ภายหลังมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี พ.ศ. 2535 เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเข้มงวดและเอาจริงเอาจังกับการขายสัตว์ป่าในบริเวณสวนจตุจักรมากขึ้น หลายคนรู้สึกว่าชื่อเสียของตลาดนัดจตุจักรในฐานะแหล่งค้าสัตว์ป่าคงกลายเป็นตำนานไปแล้ว

 

ปลายปีพ.ศ. 2543 สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจการค้านกในตลาดนัดจตุจักรและบริเวณใกล้เคียงอีกครั้ง ระหว่างเดือนธันวาคม 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 โดยพบว่า ตลอดการสำรวจ  24 ครั้ง มีนกถูกนำมาขายทั้งหมด 121 ชนิด รวม 36,495 ตัว ในจำนวนนี้เป็นนกไทยถึง 53 ชนิด และที่น่าตกใจคือ 47 ชนิดที่นำมาขายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย และมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 6,215 ตัว นกที่ได้รับการอนุรักษ์ทางกฎหมายเหล่านี้ล้วนถูกจับมาจากธรรมชาติ อาทิ นกแก็ก นกแต้วแล้วหูยาว นกกระติ๊ดใหญ่ปากเหลือง นกกะรางคอคำ นกแก้วโม่ง และเหยี่ยวขาว เป็นต้น ขณะที่ผู้สำรวจแสดงตนเป็นลูกค้า ผู้ค้าจะยืนยันเสมอว่า นกเกือบทุกชนิดสามารถสั่งล่วงหน้าให้ตนไปจัดหามาได้ ไม่ว่าจะเป็นเหยี่ยว นกเงือก นกหัวขวาน นกแต้วแล้ว นกพญาไฟ ฯลฯ

 

การสำรวจดังกล่าวยังได้บันทึกกลวิธีในการขาย ซึ่งพบว่าวันพุธ และวันพฤหัสบดีเป็นวันที่มีการค้าขายนกและสัตว์ป่ามากที่สุด โดยปกติจะมีการนำส่งนกในวันอังคารและเช้าวันพุธก่อน 8.00 น. และเริ่มต้นขายราว 11.00 น. นกที่ถูกส่งมาแล้วจะถูกนำมาวางไว้หลังแท็งค์น้ำของแผงร้านค้า เพื่อปกปิดไม่ให้คนเห็นจนกว่าจะถึงเวลาขาย คนส่งนกและสัตว์ป่าจะใช้รถกะบะขนส่ง ซึ่งบางรายจะเปิดขายจากหลังรถเลย เพื่อเป็นการสะดวกในการซ่อนหลักฐานและหลบหนี ในวันเวลาดังกล่าวจะมีลูกค้าประจำมาแวะเวียนทุกสัปดาห์ จากการพูดคุยของคณะสำรวจทำให้ได้ข้อมูลว่า ข้าราชการหลายรายเป็นลูกค้าประจำที่ซื้อนกป่าซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้

 

คนขายยังอ้างด้วยว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ อย่าง แมวป่า เสือโคร่ง หรือ แม้แต่สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย ก็สามารถสั่งซื้อได้ โดยสัตว์หายากเหล่านี้มักจะมีราคาแพงมาก และนำมาแสดงไม่ได้ แต่จะซ่อนไว้ในที่เก็บแห่งอื่น ลูกค้าประจำ หรือผู้ซื้อที่ต้องการจริงๆ จะมาติดต่อกับผู้ขายและรับของกันเองโดยตรง บางรายให้ข้อมูลว่า มีการส่งออกนกป่าบางชนิดออกไปขายยังต่างประเทศเป็นพันๆ ตัว เช่น นกกางเขนดงซึ่งถูกส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากมีความต้องการนกชนิดนี้สูง โดยเฉพาะตัวที่มีหางยาวสมบูรณ์  พ่อค้าบางรายเปิดเผยว่า นกหายากมากๆ บางชนิด เช่น นกกระเรียน นกช้อนหอย นั้นได้มาจากตลาดตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา

 

อาสาสมัครของสมาคมอนุรักษ์นกฯ คนหนึ่งผู้ร่วมเก็บข้อมูลในการสำรวจเล่าให้ผมฟังว่า นอกจากสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตจะถูกนำมาขายเป็นสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังมีร้านค้าบางแห่งขายซากสัตว์ป่า และเขาสัตว์ โดยอ้างว่า เขาส่วนใหญ่ที่วางในร้านเป็นเขาปลอมที่ทำจากเรซิน หรือไม่ก็เป็นเขาสัตว์ต่างประเทศ แต่หากทำทีเป็นสนใจสัตว์ป่าจริงๆ คนขายจะนำเอาแคตตาล๊อกซึ่งเป็นอัลบั้มรูปถ่ายมาให้ดู ภายในเป็นภาพผู้ขายถ่ายคู่กับซากสัตว์ป่าผิดกฎหมายหลายชนิด เหมือนเป็นการยืนยันว่า มีของจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังเสือโคร่ง ที่ตั้งราคาอยู่ที่ 100,000 ถึง 250,000 บาทแล้วแต่สภาพ เขากระทิง เขาวัวแดง หนังเสือลายเมฆ หัวนกเงือก ถ้าต้องการซื้อก็ให้วางเงินมัดจำและจดรายการที่ต้องการสั่งเอาไว้ พร้อมกับที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ส่วนใหญ่ต้องสั่งล่วงหน้าอย่างน้อยสองถึงสามเดือน เมื่อได้ของมาแล้วจึงจะมีการนัดส่งของโดยตรงอีกครั้ง พร้อมกับชำระเงินส่วนที่เหลือ

 

การค้าสัตว์ป่าที่ตลาดนัดจตุจักรนั้น แม้จะถือเป็นเพียงส่วนปลายของปัญหาที่ใหญ่โตและซับซ้อนระดับประเทศ แต่ต้องถือว่า เป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นตลาดค้าส่งที่มีพ่อค้าคนกลางอยู่เป็นจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้เองมีบทบาทสูงในการสร้างความต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่า และทำให้เกิดการสั่งซื้อสัตว์ป่าทั่วประเทศ อันเป็นต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง ถ้ามีการปราบปรามผู้ค้าสัตว์ป่าในตลาดจตุจักรและบริเวณใกล้เคียงอย่างเข้มงวด ย่อมเป็นการประกาศให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา

 

ผมนึกสงสัยเล่นๆ ว่า ตลอดระยะเวลา 34 ปี ของตลาดนัดจตุจักรมีนกป่ากี่ตัว ซากสัตว์ป่ากี่ชนิดที่มีการซื้อขายกันที่นี่ ผมหวั่นใจเมื่อนึกไปถึงความจริงที่ว่า มีตลาดค้าสัตว์ป่าใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายอยู่ตามจุดผ่านแดนทั่วประเทศอีกถึง 36 แห่ง มีจุดผ่อนปรนในการข้ามแดนอีก 64 แห่ง และจุดข้ามแดนที่ไม่มีการควบคุมอีก 917 แห่ง นกและสัตว์ป่าบางส่วนที่ขายอยู่ที่นี่ถูกนำมาจากประเทศเพื่อนบ้านผ่านเส้นทางเหล่านี้ ในขณะที่อีกหลายชนิดถูกส่งมาจากดินแดนไกลโพ้น หรือในทางกลับกันสัตว์ป่าจากเอเชียก็ถูกส่งออกไปไกลยังต่างแดน ผมสงสัยจริงๆ ว่า ทั่วโลกจะมีตลาดค้าสัตว์ป่าอย่างจตุจักรอีกกี่แห่ง แล้วใครจะปิดฉากขบวนการค้าชีวิตเหล่านี้ลงได้