การค้านกป่า… เมื่อธรรมชาติถูกย่ำยี (2)

โดย เพชร มโนปวิตร

การค้านกป่าในยุคโลกาภิวัฒน์  

ข้อความการโพสต์ขายนกป่าอย่างเปิดเผยในเว็บบอร์ดและเฟสบุ๊คสะท้อนให้เห็นว่า ขบวนการค้านกในยุคโลกาภิวัตน์นั้นขยายตัวไปอย่างไม่หยุดหย่อนจริงๆ โดยเข้าไปแทรกตัวอยู่ในส่วนของการซื้อขายสัตว์เลี้ยงในเว็บไซต์ต่างๆ การสื่อสารและการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วกว้างไกล ได้ทำให้ตลาดการค้านกไม่ถูกจำกัดไว้เฉพาะท้องที่อีกต่อไป และหากพิจารณาถึงข้อมูลจากตลาดค้านกในปัจจุบันจะเห็นว่ามีการส่งออก นำเข้านกจากต่างประเทศจำนวนมาก จนมีคำกล่าวว่า ความหลากหลายของนกในตลาดอย่างจตุจักรนั้นสูงกว่าป่าธรรมชาติหลายแห่ง 

 

คริส เชฟเฟิร์ด เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำ TRAFFIC องค์กรเอกชนนานาชาติซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าทั่วโลก เล่าให้ผมฟังว่า เขาหัดจำแนกชนิดนกจากแอฟริกาและอเมริกาใต้จนเชี่ยวชาญจากการสำรวจตลาดค้านกที่อินโดนีเซีย ตลาดที่คริสพูดถึงคือตลาด Medan ตลาดค้าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของสุมาตรา ซึ่งเขาได้บันทึกว่ามีนกป่าหมุนเวียนค้าขายสูงถึง 300 ชนิดใน 54 วงศ์จากทั่วทุกมุมโลก ชนิดที่หายากและราคาสูงบางชนิด เช่นนก Palm Cockatoo ของออสเตรเลียหรือนก King Bird-of-paradise จากปาปัวนิวกินีมีวางขายเป็นประจำที่นี่ พ่อค้าที่ขายนกเหล่านี้บอกว่า แหล่งรับซื้อนกป่าขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองหลวงจาการ์ตา และมักส่งต่อนกบางชนิดไปยังกรุงเทพฯ เสมอๆ

 

ในการสำรวจนกในตลาดจตุจักรเมื่อปีพ.ศ. 2544 ของสมาคมอนุรักษ์นกฯ พบว่า นกจากต่างประเทศที่พบส่วนใหญ่อยู่ในวงศ์นกแก้ว (Psittacidae) โดยพบทั้งสิ้น 73 ชนิดคิดเป็นร้อยละ 63.9 ของนกทั้งหมดที่บันทึกได้ (14,708 ตัว – วัน) โดยส่วนใหญ่เป็นนก Lovebird Agapornis spp. (5,700 ตัว – วัน ) นกหงษ์หยก (4,472 ตัว – วัน ) นก Sulphur-crested Cockatoo (897 ตัว – วัน ) นก Eclectus Parrot (464 ตัว – วัน ) และนก Cockatiel (446 ตัว – วัน ) นกแก้วทั้งหมดนี้เป็นสัตว์ในบัญชีท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ทั้งในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) หรือบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ซึ่งไม่อนุญาตให้ทำการค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศโดยไม่มีเอกสารกำกับ

 

นอกจากนกหงษ์หยกและ cockatiel ที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายแล้ว นกในอันดับนกแก้วส่วนหนึ่งเป็นนกที่เพาะพันธุ์ขึ้นมา โดยสังเกตได้จากการที่พบลูกนก Aratinga spp. Eclectus และนกแก้วอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คริสให้ข้อมูลว่า ผู้ค้านกในอินโดนีเซียยังคงส่งออกนกแก้ว Eclectus รวมทั้งนกแก้วชนิดอื่นๆ มายังกรุงเทพฯ อยู่เสมอ จึงเป็นไปได้ว่านกส่วนใหญ่ที่พบนี้ถูกนำเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย นักเลี้ยงนกคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่ามีการเพาะพันธุ์ Salmon-crested Cockatoos Cocatua moluccensis และนกชนิดอื่นๆ ในกรงกันอย่างกว้างขวาง โดยมีฟาร์มจำนวนหนึ่งเพาะพันธุ์นกชนิดนี้ รวมทั้งนกต่างประเทศอื่นๆ แม้จะไม่มีข้อมูลมากพอว่า จำนวนนกจากฟาร์มเหล่านี้จัดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ในการค้านกทั้งหมด

 

นอกเหนือจากวงศ์นกแก้ว นกที่เหลือส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซียหรือละตินอเมริกา และจำนวนหนึ่งมาจากประเทศจีน ตัวอย่างคือ Collared Finchbill Spizixos semitorques , Grey-sided Laughingthrush Garrulax caerulatus , Red-winged Laughingthrush Garrulax formosus , Omei Shan Liocichla Liocichla omeiensis , Pekin Robin Leiothrix lutea , White-collared Yuhina Yuhina diademata และ Bearded Parrotbill Panurus biarmicus จะเห็นว่า นกจากประเทศจีนซึ่งเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงนกมีหลากหลายชนิดมากจนคาดเดาได้ยากว่า จะมีนกชนิดไหนอีกบ้างที่อาจมาปรากฏตัวที่ตลาดจตุจักร  นกจำนวนมากที่ส่งมาจากประเทศจีนมีการบาดเจ็บและตายระหว่างการขนส่งสูงและน่าจะส่งผลกระทบต่อประชากรนกในธรรมชาติอย่างรุนแรง นอกจากนั้น นกเหล่านี้บางชนิดก็อยู่ในรายชื่อของ IUCN เช่น Omei Shan Liocichla ซึ่งองค์กรอนุรักษ์นกนานาชาติ (BirdLife Intenational) จัดให้เป็นนกที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ (vulnerable) เนื่องจากมีขอบเขตการกระจายพันธุ์จำกัดมาก นกชนิดนี้ถูกลักลอบส่งออกจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นนกที่มีสถานภาพการคุ้มครองตามกฎหมายเต็มที่ รวมทั้งอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของอนุสัญญา CITES ด้วย

 

ผู้ค้ารายหนึ่งยืนยันว่า นกทั้งหมดที่ตนขายนำเข้ามาโดยมีเอกสารประกอบถูกต้อง อีกรายให้ข้อมูลว่า ในความเป็นจริงเนื่องจากการขออนุญาตตามขั้นตอนเพื่อให้ได้เอกสารประกอบจากหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดำเนินพิธีการของ CITES ( กรมอุทยานแห่งชาติฯ ) เต็มไปด้วยความยุ่งยาก จึงแทบไม่เคยมีนกตัวใดที่นำเข้ามาโดยมีเอกสารประกอบถูกต้องเลย นกทั้งหมดถูกลักลอบนำเข้า และหลังจากเข้ามาในประเทศไทยแล้วก็จะไม่มีการควบคุมใดๆ ภายใต้อนุสัญญา CITES อีกเนื่องจากระเบียบที่กำหนดไว้เป็นการควบคุมเฉพาะการขนส่งข้ามพรมแดนเท่านั้น หลักฐานยืนยันการลักลอบนำเข้านั้น เห็นได้ชัดเจนเมื่อพิจารณาถึงนก White Cockatoo Cacatua alba 66 ตัว – วัน ที่บันทึกได้แม้นกชนิดนี้จะเป็นนกในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญา CITES ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียไม่อนุญาตให้มีการส่งออกใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งนก Salmon-crested Cockatoo Cacatua mouluccensisi (50 ตัว – วัน ) ซึ่งเป็นนกในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ของอนุสัญญา CITES

 

คำถามสำคัญอีกประการในการสำรวจตลาดค้านกก็คือ นกเหล่านี้มีแหล่งที่มาจากไหน การสำรวจโดยการสัมภาษณ์ของสมาคมอนุรักษ์นกฯ เปิดเผยว่า นกที่พบได้ในประเทศไทยส่วนหนึ่งที่มีการซื้อขายถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นไปได้ว่า นกที่มีสีสันสวยงามซึ่งเป็นนกในป่าระดับสูง (montane bird) ส่วนใหญ่จะมาจากจีนด้วย ได้แก่ นกกะรองทองแก้มขาว และนกศิวะปีกสีฟ้า รวมทั้งนกในวงศ์นกจาบปีกอ่อน เช่น นกกระติ๊ดใหญ่ Mycerobas spp. อย่างไรก็ตามโดยรวมเชื่อว่า นกส่วนใหญ่เป็นนกที่จับมาจากป่าภายในประเทศ ผู้ขายเองก็ให้ข้อมูลว่า นกที่ขายมีที่มากระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนกจากป่าเขาใหญ่  ป่าตะวันตกแถบกาญจนบุรี และแก่งกระจาน เนื่องจากป่าเหล่านี้อยู่ใกล้กรุงเทพฯ

 

มีการให้ข้อมูลว่า บางครั้งผู้ค้าจากตลาดจตุจักรและตลาดนัดซันเดย์จะเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อซื้อนกจากคนจับนกถึงหมู่บ้าน แต่ในบางกรณีจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ค้าให้ข้อมูลว่า ผู้ซื้อจำนวนมากที่ซื้อนกจากตลาดซันเดย์เป็นลูกค้าใหม่ ส่วนผู้ซื้อที่ชำนาญแล้วจะติดต่อผู้ขายโดยตรงถึงบ้าน ซึ่งโดยมากจะมีนกที่ราคาสูงกว่าหรือเป็นที่เก็บนกที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น นกหายากหลายต่อหลายชนิดจึงค้าขายโดยการขายตรง และไม่ต้องมาเสี่ยงวางขายในตลาดเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางสำคัญอีกแห่งในการเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

อาจจะด้วยค่าตอบแทนอันคุ้มค่าที่เป็นแรงจูงใจให้กับพ่อค้าและคนดักนก หรืออาจจะเป็นค่านิยมโบราณและความไม่รู้ของผู้ซื้อ แต่ด้วยอุปสงค์อุปทานที่สอดประสานกันอย่างลงตัวโดยอาศัยช่องว่างช่องโหว่ทางกฎหมาย ตลาดค้านกจึงดำรงอยู่กลายเป็นเศรษฐศาสตร์สีดำที่จองจำชีวิตอิสระในธรรมชาติ ชีวิตแล้ว ชีวิตเล่า

 

 

ช่วยกันหยุดวงจรอุบาทว์

การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย การหยุดยั้งขบวนการค้านกป่าผิดกฎหมายก็เช่นเดียวกัน ลำพังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ย่อมไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ทั้งหมด องค์กรอนุรักษ์ ภาครัฐและภาคประชาชนต้องร่วมมือกันและพัฒนาให้งานปราบปรามและการดูแลสอดส่องมีความเข้มแข็งและต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกแก่สาธารณะให้มีค่านิยมที่ถูกต้องในการชื่นชมธรรมชาติ

 

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยได้จัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางในการจัดการกับปัญหาการค้านกป่าไว้ ดังนี้

 

การให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึก

  1. ควรมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายไปที่ผู้ซื้อและผู้เลี้ยงสัตว์ป่า ข้าราชการ (โดยเฉพาะในระดับจังหวัดและอำเภอ) กลุ่มเยาวชน กลุ่มนักเรียน ฯลฯ โดยควรดำเนินการที่ตลาดนัดจตุจักรภายใต้ความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่คุ้มครองสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ
  2. ควรติดต่อบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้เช่าร้านค้าในจตุจักรพลาซ่าและ ตลาดซันเดย์และขอความร่วมมือเพื่อปราบปรามการค้าในตลาดทั้งสองโดยร่วมกันพิจารณามาตรการที่เหมาะสมต่อไป
  3. ควรมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายสัตว์ป่า และบทบาทของการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าที่คุกคามความอยู่รอดของประชากรสัตว์ป่าในธรรมชาติ
  4. นักดูนกและคนที่มีความรู้เกี่ยวกับการจำแนกชนิด ควรช่วยกันสอดส่องและรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อพบเห็นการลับลอบจับนก ขายนกและสัตว์ป่าอื่นๆ
  5. เจ้าหน้าที่หน่วยงานคุ้มครองสัตว์ป่า และองค์กรเอกชนควรสร้างความเข้าใจกับผู้ค้านกที่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเชื่อมโยงไปถึงการให้ประกาศนียบัตรแก่ร้านค้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นผู้ค้านกจากการเพาะพันธุ์อย่างถูกต้องเพื่อนำไปแสดงในร้าน
  6. ภายในตลาดนัดจตุจักรซึ่งดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ควรบังคับให้ร้านค้าสัตว์เลี้ยงทุกชนิดปิดโปสเตอร์แสดงบทลงโทษการซื้อสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยร้านค้าที่ไม่ปฏิบัติตามให้มีการลงโทษด้วยการไม่ต่อสัญญาเมื่อครบกำหนดอายุ
  7. ควรมีการรณรงค์ให้การศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อลดการเลี้ยงนกในกรง และส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการชื่มชนธรรมชาติในทางที่ถูกเช่น การดูนก การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การจัดสวนให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยของนก เป็นต้น

 

การบังคับใช้กฎหมาย  

  1. เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสัตว์ป่าและการจำแนกชนิดนกให้ดีขึ้น ควรจัดให้มีการอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะการจำแนกชนิดนก รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ  ควรมีการผลิตคู่มือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมภาพประกอบเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ควรมีการสร้างจิตสำนึกในหน่วยงานที่รับผิดชอบให้มากขึ้น หากเจ้าหน้าที่มีจิตสำนึกและมีการประสานงานที่ดีจะสามารถมีบทบาทมากขึ้นทั้งในการปราบปรามโดยตรง หรือในการระบุตัวผู้ค้าหรือผู้จัดหารายใหญ่ในเขตต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายที่รับผิดชอบในคุ้มครองสัตว์ป่าทำการปราบปรามได้ถึงต้นตอ
  3. จำเป็นต้องมีการประสานงานระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ด้านปราบปรามของ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ตัวอย่างเช่นตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยศุลกากร เพื่อให้การปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามพรมแดนมีประสิทธิภาพ
  4. เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ตลอดจนผู้พิพากษา ฯลฯ ควรได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้มากขึ้น เพื่อรับประกันว่า เจ้าหน้าที่รัฐตระหนักถึงปัจจัยคุกคามจากการลักลอบค้าสัตว์ป่า และให้แน่ใจว่า มีการใช้บทลงโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้บ่อยครั้งที่สุดที่เป็นไปได้ เพื่อต่อต้านการค้าประเภทนี้

 

การศึกษาวิจัยเพิ่มเติม   

  1. ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างประชากรนกในธรรมชาติกับตลาดค้านกป่าและแหล่งที่มาของสัตว์ป่า
  2. ควรทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางที่มาของนกจากต่างประเทศที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาด
  3. ควรมีการติดตามตรวจสอบฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ป่า รวมทั้งสวนสัตว์ทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อศึกษารูปแบบการได้มาและเพาะพันธุ์สัตว์ป่าทั้งใน ประเทศและจากต่างประเทศ รวมทั้งสัดส่วนของสัตว์ที่ฟาร์มเหล่านี้เพาะพันธุ์ขึ้นในการค้าสัตว์ป่าภายในประเทศไทย
  4. จำเป็นต้องมีการติดตามตรวจสอบตลาดซื้อขายสัตว์ป่าทั่วกรุงเทพฯ เป็นประจำ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่มีการซื้อขาย โดยตรวจสอบจำนวนใบอนุญาตนำเข้าและส่งออกสัตว์ป่าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ควบคู่ไปด้ว

แม้ความพยายามขององค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติร่วมกับรัฐบาลที่ผ่านมาจะยังไม่สามารถปิดฉากขบวนการค้านกและสัตว์ป่าผิดกฎหมายลงได้  แต่ก็นับได้ว่ามีความคิดริเริ่มในการทำงานแก้ปัญหาดังกล่าวขึ้นมากมาย ความพยายามในการปรับปรุงตัวบทกฎหมายให้มีความเข้มงวด การพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย พร้อมไปกับการให้การศึกษาที่ถูกต้องแก่สาธารณะ เป็นกรอบงานหลักที่ทุกฝ่ายต้องเร่งพัฒนาแข่งกับเวลาเพื่อต่อสู้ขบวนการลักลอบค้านกและสัตว์ป่าเหล่านี้

 

ความพยายามทั้งหลายทั้งหมดคงไม่สามารถบรรลุผลได้ด้วยการทำงานของภาครัฐแต่เพียงลำพัง หรือโดยองค์กรเอกชนเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากจำต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เป็นกระบวนการตรวจสอบที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

 

………………………………………………..

 

ทุกวันนี้การลักลอบค้านกป่านับเป็นปัญหาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง เป็นขบวนการที่เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์ เป็นขบวนการทำลายธรรมชาติที่กำลังรอให้มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและช่วยกันปิดฉากการทารุณสัตว์ป่าเหล่านี้ลงอย่างถาวร

 

ขอขอบคุณ

คุณกฤษณา แก้วปลั่ง และคุณ Philip D. Round

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

นิตยสาร สารคดี

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย

มูลนิธิฟรีแลนด์

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

IUCN

 

เอกสารอ้างอิง 

ข่าวสด. 2546. แฉรูปตลาดซันเดย์ค้านกหายาก. หน้า 16. หนังสือพิมพ์ข่าวสด 24 กันยายน 2546.

เพชร มโนปวิตร. 2546. นรกของแต้วแล้วยักษ์ และการค้าสัตว์ป่ากลางกรุง. นิตยสาร Advance Thailand Geographic. พฤศจิกายน 2546.

เพชร มโนปวิตร. 2546. การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย สงครามไม่รู้จบ. นิตยสารสารคดี.  ฉบับที่ 236. ตุลาคม 2546.

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย.  2546.  รายงานการสำรวจการค้านกป่าและสัตว์ป่าในตลาดนัดกรุงเทพมหานคร.  สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ 38 น.

สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า.  2548. คู่มือจำแนกสัตว์ป่า เพื่องานป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า.  สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า. กรุงเทพฯ. 352 น.

อวยพร แต้ชูตระกูล.  2547.  ฉากสุดท้ายของสัตว์ป่า.  นิตยสารโลกสีเขียว. ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2547.

Bennett, E.L. and J. G. Robinson. 2001.  Hunting of Wildlife in Tropical Forests: Implication for Biodiversity and Forest Peoples. The World Bank Environment Department. Washington D.C.

Bennett, E.L. and Madhu Rao. 2002. Hunting and wildlife trade in tropical and subtropical Asia : identifying gaps and developing strategies. Paper of meeting held in Khao Yai National Park , April 2002. Wildlife Conservation Society , New York.

BirdLife International. 2001. Threatened birds of Asia : The BirdLife International Red Data Book. BirdLife International, Cambridge , U.K.

Lekagul, Boonsong and P.D. Round. 1991. A Guide to the Birds of Thailand . Saha Karn Bhaet, Bangkok.

McClure, H.E. and Sombob Chaiyaphun. 1971. The sale of birds at the Bangkok “Sunday Market”, Thailand. Nat. Hist. Bull. Siam Soc. 24:41-78.

Menon, V. and A. Kumar. 1999.  Wildlife Crime: An Enforcement Guide. Wildlife Protection Society of India.  Second Edition. New Delhi, India. 109 p.

Pearl, M.C. 2004. Wildlife Trade: Threat to Global Health. EcoHealth 1: 111-112.

Round, P.D. 1990. The Bangkok Bird Club Survey of the Bangkok Weekend Market. Nat. Hist. Bull. Siam Soc. 38:1-43.

Shepherd, C. R., Jeet Sukumara, Serge A. Wich. 2004.  Open Season: An analysis of the pet trade in Medan, Sumatra 1997-2001.