ข้าวสารัช “ข้าวหอมมะลิบนแผ่นดินนกกระเรียน”

นุชจรี พืชคูณ
หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ สำนักอนุรักษ์และวิจัย
องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

การหายไปของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

         “นกกระเรียนพันธุ์ไทย” เป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเคยมีสถานภาพสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2517 และจัดอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (VU) นกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นนกที่มีส่วนสูงประมาณ 176 เซนติเมตร หนักประมาณ 6.35 กิโลกรัม และมีระยะปีกกว้างประมาณ 240 เซนติเมตร (Northcote, 1984) และถิ่นมีอาศัยคือพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ แหล่งน้ำและนาข้าว ที่ถูกคุกคามอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ย้อนไปเมื่อช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2448 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีพระนิพนธ์เกี่ยวกับ “ลานนกกระเรียน” จากการไปตรวจราชการหัวเมืองในมณฑลอุดรกับมณฑลอีสาน เขตจังหวัดนครราชสีมา ตามทางที่ไปมีพื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งใหญ่ๆ หลายแห่งที่ทำไร่ทำนาไม่ได้เพราะเป็นที่ลุ่ม ฤดูแล้งดินแห้งแข็ง พอถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วมจนไม่สามารถปลูกพืชชนิดใดๆ ได้ มีเพียงแต่นกกระเรียนพันธุ์ไทยมาทำรังวางไข่ในทุ่งนั้นเป็นหมื่นเป็นแสนตัว พอถึงช่วงสิ้นสุดฤดูหนาวลูกนกก็บินได้และพากันหายไปหมด และเมื่อถึงช่วงฤดูฝนก็กลับมาทำรังอีกครั้งเป็นประจำทุกปี โดยนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่มีเลี้ยงกันตามบ้านในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ล้วนดักเอาลูกนกไปจากทุ่งนี้ทั้งนั้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยเริ่มพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประชาชนต้องการพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นจึงเกิดการคุกคามและเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำไปเป็นพื้นเกษตรเชิงพาณิชย์ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย (อนาวิน และปิยะกาญจน์, 2558) ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เคยอยู่อาศัย ทำรังวางไข่ลดจำนวนลง จนกระทั่งนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517 ซึ่งในปีพ.ศ. 2559 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 60 ล้านไร่ และถือเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก พื้นที่เพาะปลูกข้าวนี้เปลี่ยนแปลงมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ ซึ่งคือถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้น คือประเทศไทยยังคงมีพื้นที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติหรือไม่

 

 

 

นาข้าวอินทรีย์กับการกลับมาของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

จากคำถามสู่การหาคำตอบ โดยการสำรวจ รวบรวม สอบถาม สืบค้น และอ้างอิงจากข้อมูลนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ยังคงเหลืออยู่ในธรรมชาติของประเทศกัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา และชนิดพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างนกกระเรียนพันธุ์อินเดีย ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่านกกระเรียนพันธุ์ไทยในประเทศกัมพูชาและเวียดนามส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ

ประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้หวนกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งเนื่องมาจากความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนท้องถิ่น ภายใต้การดำเนินงาน“โครงการนำประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ” ซึ่งรับผิดชอบหลักโดยองค์การสวนสัตว์ (นุชจรี, ปิยะกาญจน์ และบริพัตร, 2557) หลังจากที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นชุ่มน้ำจังหวัดบุรีรัมย์ คือที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย ตามอนุสัญญาแรมซาร์ โดยในช่วงแรกยังคงพบนกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทพื้นที่ชุ่มน้ำและหนองน้ำ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งที่นกสามารถปรับตัวได้ จึงเริ่มพบนกบางส่วนอพยพไปอาศัยในพื้นที่นาข้าวที่อยู่รอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างสูง สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ในช่วงปี พ.ศ. 2559-2561 พบการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติครั้งแรก สัดส่วนร้อยละ 70-80 ของรังทั้งหมดถูกค้นพบในพื้นที่นาข้าว และลูกนกที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ก็เกิดในนาข้าวเช่นเดียวกัน เหตุผลหนึ่งของการเลือกทำรังในนาข้าว เนื่องจากพื้นที่นาข้าวในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นมีลักษะดินที่อุ้มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม มีอาหารพอเพียง และพฤติกรรมของเกษตรกรไม่ก่อให้เกิดการรบกวนต่อสัตว์ป่า ในขณะที่พื้นที่อ่างเก็บน้ำมีระดับน้ำที่สูงเกินไป และมีกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่อาจเป็นที่รบกวนต่อสัตว์ป่า จึงทำให้ “นาข้าว” กลายเป็นพื้นที่อาศัยและทำรังวางไข่ที่สำคัญของนกกระเรียนพันธุ์ไทย

ปัจจุบัน เกษตรกรที่ทำนาข้าวจังหวัดบุรีรัมย์ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวจากรูปแบบของเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยให้มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System; PGS) และด้วยการจัดการความรู้ที่มีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันกับนกกระเรียนพันธุ์ไทยได้การเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมแก่องค์กรชุมชนผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทย จะนำไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการผลิตข้าวอินทรีย์ ดังนั้น ข้าวอินทรีย์จึงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าวิถีเกษตร ชาวนา และนกกระเรียนพันธุ์ไทย ล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เป็นไปตามคำขวัญที่ว่า “กระเรียนเคียงฟ้า นาอินทรีย์เคียงดิน มีกินยั่งยืน”

ผลจากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการปรับสถานภาพทางของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในบัญชีแดงด้านการอนุรักษ์ (Thailand red list data) จากสัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติ (Extinct in the wild; EW) เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critical endangered; CR) และถือเป็นก้าวหนึ่งของความสำเร็จที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการที่จะนำสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วกลับมาของประเทศไทย ด้วยความร่วมมือร่วมใจในการอนุรักษ์ของชุมชนท้องถิ่น โดยหวังให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และเป็นตัวแทนของความสำเร็จในการอนุรักษ์สัตว์ป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย

 

 

เครือข่ายชุมชนเกษตรอินทรีย์กับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย

การอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยนั่นมีความสัมพันธ์กับพื้นที่นาข้าวและชาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การพัฒนาองค์กรชุมชนผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ การเสริมสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม การพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของข้าวอินทรีย์ จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเคมีให้เป็นเกษตรอินทรีย์ และมีการพัฒนากลุ่มชุมชนนำร่องเพื่อพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบการผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย

องค์การสวนสัตว์ได้พัฒนากลุ่มชุมชนนำร่องกลุ่มแรกคือ “กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอ” ซึ่งมีนายทองพูน อุ่นจิตต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 80 คน รวมพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิประมาณ 1,500 ไร่ บริเวณตอนบนของพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก อันเป็นบริเวณแรกที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติและเป็นพื้นที่ตั้งโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ แต่เดิมนั้น ผู้ใหญ่ทองพูน ได้ทดลองทำการเกษตรแบบลดการใช้สารเคมี แต่ยังคงทำภายในพื้นที่เกษตรของตนเท่านั้น และมีจัดจำหน่ายข้าวของตนเองภายใต้สัญลักษณ์ทางการค้าที่ชื่อว่า “ข้าวอุ่นจิตต์” เมื่อองค์การสวนสัตว์ได้พัฒนากลุ่มชุมชนนำร่องและชักชวนให้เข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มฯ จึงได้จดจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในชื่อ“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวาย” และมีเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ข้าวอุ่นจิตต์” เพื่อส่งเสริมการขายและให้ข้อมูลข้าวสารเกี่ยวกับข้าวอินทรีย์ ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์และสถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ยังร่วมกันผลักดันกลุ่มผู้ผลิตข้าวเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS) มีการสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านข้าวอินทรีย์ที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการความรู้ด้านการผลิตข้าวอินทรีย์อย่างเป็นระบบ และพัฒนาปราชญ์ชุมชนเพื่อเป็นที่ปรึกษาและให้ความรู้ด้านการผลิตข้าวอินทรีย์แห่สมาชิกและผู้สืบทอด ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านสวายมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมมะลิภายใต้สัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” หรือ “SARUS RICE” และพัฒนาชุมชนให้เป็นสู่หมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นสัญลักษณ์

“SARUS RICE” มาจากชื่อทั่วไป (Common name) ของนกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) ดังนั้น ในภาษาไทยจึงใช้คำว่า “ข้าวสารัช” ซึ่งคำว่า สารัช” โดยทั่วไปหมายถึง ความดีงาม ความเป็นแก่นสาร และสอดคล้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่ได้ระบุว่า “สารัตถะ หรือสารัตถประโยชน์” หมายถึง ประโยชน์ที่เป็นแก่นสาร หรือประโยชน์ที่ยั่งยืนถาวร อาจกล่าวโดยสรุปว่า “ข้าวสารัช” หมายถึง ข้าวที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชุมชนในการผลิตเพื่อความคงอยู่ของระบบนิเวศที่เป็นถิ่นอาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทย และสมดุลของธรรมชาติ

นอกจากนี้แล้ว องค์การสวนสัตว์ยังได้ส่งเสริมชุมชนนำร่องอีก 2 แห่งคือ “กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านเกียรติเจริญ” ตำบลโคกม้า อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และ “กลุ่มโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตำบลสะแกซำ” ตำบลสะแกซำ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สำหรับกลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านเกียรติเจริญ มีสมาชิกประมาณ 100 คน รวมพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิประมาณ 2,300 ไร่ บริเวณบริเวณตอนบนของพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งที่สองที่มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ และที่กลุ่มโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตำบลสะแกซำ มีสมาชิกประมาณ 90 คน รวมพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิประมาณ 1,500 ไร่ ทางบริเวณตอนบนของพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งอำนวยน้ำของอ่างเก็บน้ำสนามบิน อีกทั้ง โดยรอบอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดยังพบการเข้าไปอาศัยและทำรังวางไข่ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้ ได้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System: PGS) รวมทั้งพัฒนาการผลิตและสร้างเครือข่ายสู่การพึ่งตนเอง และได้รับการส่งเสริม ฝึกอบรม ให้ความรู้ และศึกษาดูงานด้านการทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกับองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย และอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ข้าวหอมมะลิเป็นวัตถุดิบภายใต้สัญลักษณ์ “ข้าวสารัช-SARUS RICE” (องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2560)

 

 

 

ทางรอดของนกกระเรียนพันธุ์ไทย ผ่านระบบการพึ่งพาของความหลากหลายทางชีวภาพ

ให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยได้รับการดูแลอย่างดีและเป็นมิตรด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่นผ่านการผลิตแบบอินทรีย์ ด้วยสัญลักษณ์ “ข้าวสารัช” รวมถึงมีการถ่ายทอดจากปากต่อปาก จากชุมชนสู่ชุม จากเครือข่ายสู่เครือข่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่สนใจของผู้ที่นิยมสินค้าอินทรีย์ นำพาให้ชุมชนสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บนแผ่นดินนกกระเรียน มีรายได้ที่มั่นคง บนฐานของความตระหนักในการเห็นคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จนพัฒนาไปสู่การเข้ามามีส่วนร่วม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนได้จากจำนวนอัตราการตายของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ลดลง และความสำเร็จในการขยายพันธุ์ของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในนาข้าวที่เพิ่มมากขึ้น

“ข้าวสารัช-SARUS RICE” อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และไม่ใช่แค่เพียงการบริโภคข้าวอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดนั้นการสนับสนุนการซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวสารัช มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากความเสียหายของนาข้าวที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยไปอาศัยและทำรัง ช่วยให้เกษตรกรมีกำลังใจในการดูและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรายได้ที่มั่นคงและผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงเป็นผู้ที่มีส่วนในการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยและพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นผู้บอกต่อเรื่องราวความสำเร็จของโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ผ่านการสนับสนุนและบริโภคข้าวสารัช ผลของความร่วมมือร่วมใจนี้จะสามารถรักษาพื้นที่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยให้ปลอดภัย และประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยยังสามารถคงอยู่ได้ เกิดความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

  1. หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล. 2534. พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2491 “ลานนกกระเรียน”. ประเทศไทย.
  2. นุชจรี พืชคุณ, ปิยะกาญจน์ เที้ยธิทรัพย์ และ บริพัตร ศิริอรุณรัตน์. 2557. การพัฒนาแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม สำหรับประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทย. วารสารสัตว์ป่าเมืองไทย 21(1): 82-94.
  3. องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2560. รายงานฉบับสุดท้ายโครงการศึกษาสำรวจข้อมูลโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดและพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์.
  4. อนาวิน สุวรรณะ และ ปิยะกาญจน์ เที้ยธิทรัพย์. 2558. การอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยโดยชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์. วารสารการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิต 3(1): 17-28.
  5. Johnsgard P.A. 1983. Cranes of the world. Bloomington: Indiana university press.
  6. Meine C.D. and Archibald G.W. 1996. The cranes: Status survey and conservation action plan. Ottawa, Canada: MOM Printing.
  7. Mukherjee A, Borad CK and Parasharya BM. 2002. Breeding performance of the Indian sarus crane in the agricultural landscape of western India. Biological conservation 105(2): 263-269.
  8. Mukherjee A, Soni VC, Borad CK and Parasharya BM. 2000. Nest and eggs of Sarus Crane (Grus antigone antigone Linn). Zoos’ print journal 15(12): 375-385.
  9. Sundar KS. 2009. Are rice paddies suboptimal breeding habitat for Sarus Cranes in Uttar Pradesh, India?. The condor 111(4): 611-623.
  10. 10. Sundar K.S. and Choudhury B.C. The Indian Sarus Crane Grus a. antigone: A Literature Review. Journal of Ecological society 16: 16-41.