Bird Friendly Photography

ปัจจุบันการถ่ายภาพนกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก แต่เราจะถ่ายภาพอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อนกและธรรมชาติอย่างน้อยที่สุด หากคุณต้องการที่จะเป็นช่างภาพที่รักและคำนึงถึงสวัสดิภาพของนก มีเรื่องอะไรบ้างที่ควรปฏิบัติตาม ประเด็นต่างๆ ยึดตามข้อสรุปจากงานเสวนา “การถ่ายภาพที่เป็นมิตรกับนกและธรรมชาติ (Bird-Friendly Techniques)” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 โดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่ม Thai Birder, BirdThailand, Bird Bird และ Bangkok Birding Gang (BBG) และ Audubon’s Guide to Ethical Bird Photography

ในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงกล้อง DSLR ได้ง่ายขึ้น ความนิยมในการถ่ายภาพนกก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เราจะถ่ายภาพอย่างไรโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้ง “นก” และ “ธรรมชาติ” เบื้องต้น คำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก

การถ่ายภาพนกที่รัง

1) ไม่ตัดแต่งกิ่งไม้หน้ารัง
ทำไม? : เพราะพ่อแม่นกได้เลือกทำเลที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว การตัดแต่งกิ่งเพื่อเปิดให้หน้ารังโล่งขึ้น อาจทำให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นรังและลูกนกได้ง่ายขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนกระบวนการตามธรรมชาติ

2) ใช้บังไพร
ทำไม? : นกแต่ละชนิดสามารถทนการรบกวนจากมนุษย์ได้มากน้อยแตกต่างกัน การใช้บังไพรจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับนกที่อ่อนไหวต่อการรบกวน

3) รักษาระยะห่าง
ทำไม? : การตั้งบังไพรหรือนั่งรอนกใกล้รังจนเกินไป รวมทั้งการเฝ้าในตำแหน่งที่กีดขวางทางเข้ารัง อาจทำให้พ่อแม่นกไม่กล้าเข้ามาที่รัง และอาจทิ้งรังได้ สังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่นก หากหายไปนานผิดปกติ นั่นแปลว่าคุณต้องถอยได้แล้ว!

4) ไม่ทำให้พ่อแม่นกตกใจหนีไปจากรัง
ทำไม? : การเดินเข้า-ออกบริเวณรังบ่อยๆ และทำให้พ่อแม่นกต้องบินออกจากรัง นอกจากจะเพิ่มความเครียดให้กับนกแล้ว ยังเพิ่มโอกาสให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นรังมากขึ้นด้วย

5) ถ่ายภาพที่กิ่งพัก ก่อน/หลังเข้าป้อน
ทำไม? : เพื่อหลีกเลี่ยงการเฝ้าบริเวณหน้ารังโดยตรง สังเกตกิ่งที่พ่อแม่นกเลือกเกาะก่อนและหลังเข้าป้อน แล้วเฝ้ารอบริเวณนั้นแทน เพื่อลดความเครียดของนก

นกพญาปากกว้างอกสีเงิน (Silver-breasted Broadbill)

การใช้แฟลช & สิ่งล่อ

1) ใช้แฟลชเท่าที่จำเป็น
ทำไม? : นกแต่ละชนิดสามารถทนต่อแสงแฟลชได้ไม่เท่ากัน บางชนิดอาจตกใจและบินหนีไป บางชนิดอาจทนได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ควรใช้เฉพาะเมื่อแสงธรรมชาติไม่เพียงพอจริงๆ เพื่อรบกวนนกให้น้อยที่สุด

2) ใช้เสียงล่อเท่าที่จำเป็น
ทำไม? : การเปิดเสียงเรียกนกอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลทำให้นกทิ้งอาณาเขตได้ ควรใช้เพื่อหาตำแหน่งของนกเป็นหลัก ปิดเสียงเมื่อนกตอบรับ หรือเมื่อเปิดเรียกพักหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีการตอบรับใดๆ

งด การเปิดเสียงขณะถ่ายภาพที่รัง เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้พ่อแม่นกเครียด และเพิ่มโอกาสในการทิ้งรังและอาณาเขต

3) ใช้อาหารล่อเท่าที่จำเป็น
ทำไม? : ไม่ควรปล่อยให้มีอาหารเหลือเกลื่อนกลาด ไม่ว่าจะเป็นหนอน เมล็ดพืช หรือแมลงอื่นๆ เพราะจะเป็นสิ่งแปลกปลอม (alien species) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และยังเพิ่มโอกาสให้สัตว์ผู้ล่าสังเกตเห็นได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตระหนัก ถึงผลกระทบที่อาจตามมา โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ที่อาจมีการลักลอบเข้ามาดักจับนกได้โดยง่าย

นกตบยุงยักษ์ (Great Eared Nightjar)

ระยะห่างจากตัวนก

1) แค่ไหนคือ “ใกล้” เกินไป?
นกแต่ละชนิดยอมให้เราเข้าใกล้ได้มากน้อยต่างกัน สังเกตพฤติกรรมของนกเป็นหลัก หากนกเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หยุดหากิน หรือบินหนี นั่นแปลว่า คุณอยู่ใกล้เกินไปแล้ว

2) อย่าพยายามไล่ให้นกบิน
ทำไม? : เนื่องจากเป็นการรบกวนและสร้างความเครียดให้กับนก อีกทั้งยังทำให้นกต้องสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น

3) เรียนรู้ พฤติกรรมของนก
ทำไม? : หากเข้าใจพฤติกรรมและอุปนิสัยของนกแต่ละประเภทแล้ว จะทำให้สามารถเข้าใกล้ได้มากขึ้น และรบกวนนกน้อยลง เช่น นกบางกลุ่มจำเป็นต้องใช้บังไพร หรือนกบางกลุ่มอาจต้องย่อตัวเข้าหา

นกกะเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน (Blue-eared Kingfisher)

การเคารพสถานที่

1) ปฏิบัติตามข้อกำหนดของแต่ละสถานที่
คำนึงการใช้สถานที่ทุกครั้งที่เข้าไปถ่ายภาพนก บางพื้นที่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ฯ หรือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งต้องได้รับอนุญาตทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่

2) รักษาความสะอาด
นำขยะกลับออกมาทุกครั้ง ไม่ปล่อยทิ้งเรี่ยราดในบริเวณที่ถ่ายภาพ เป็นสามัญสำนึกที่ทุกคนพึงมี

3) คำนึงถึงผู้อื่น
ในกรณีที่มีคนต้องการเห็น/ถ่ายภาพนกตัวเดียวกันเป็นจำนวนมาก เอื้อเฟื้อและคำนึงถึงคนที่ยังไม่ได้เห็น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของนก คนอื่นๆ ก็ต้องการเห็นและถ่ายภาพไม่ต่างไปจากคุณ

นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Sarus Crane)

การถ่ายภาพเป็นศิลปะ เป็นความชอบส่วนบุคคล ไม่จำเป็นต้องถ่ายให้ได้เหมือนคนอื่น ภาพนกที่สวยงามมีหลากหลายรูปแบบ… เรียนรู้ ทำความรู้จักนกให้มากขึ้น ถ่ายภาพที่สะท้อนถึงตัวตนของนกชนิดนั้นๆ เป็นช่างภาพที่รู้จัก เข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อนก เพื่อการถ่ายภาพอย่างมีความสุข และเป็นมิตรต่อนก & ธรรมชาติ

การดูแลนกบาดเจ็บและลูกนกตกจากรัง

จดบันทึกโดยคุณ Maythira Kasemsant จากการอบรม “วิธีดูแลลูกนกบาดเจ็บและลูกนกตกจากรัง”  ซึ่งจัดโดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST)

บรรยายโดยหมอเบน – น.สพ.เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ นายสัตวแพทย์ประจำหน่วยสัตว์ป่าและคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกนกที่เราจะเจอมีอยู่ 3 ประเภท คือ

1.ลูกนกอ่อน – จะมีแต่หนังหรือแค่ขนอุยๆ ยังบินไม่ได้ แต่ดันตกจากรังมาซะก่อน

กรณีนี้ ให้มองหารังเดิมของมัน ถ้าเจอก็อุ้มกลับคืนรังซะ

แต่ถ้าไม่เจอก็สร้างรังเทียมขึ้นมา อาจเป็นตะกร้าที่น้ำฝนไหลผ่านได้ไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ ถ้าพ่อแม่นกยังอยู่เดี๋ยวมันก็กลับมาดูแลลูก (อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.birdscomefirst.net/)

(ป.ล. คนไม่ควรไปเฝ้าประชิดรังนก เพราะจะทำให้พ่อแม่ไม่กล้ากลับมาหาลูก ควรแอบดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ จะดีที่สุด)

 

 

2.ลูกนกหัดบิน – ยังบินไม่เก่ง ก็เลยพลาด

 

กรณีนี้ มักมีพ่อแม่นกอยู่แถวๆ นั้น  ให้แอบซุ่มรอดูสักพัก สัก 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีพ่อแม่นกมาจริงๆ ค่อยเก็บไปดูแล

(แต่ต้องแอบซุ่มนะ เพราะถ้าใกล้ลูกนกเกิน พ่อแม่ก็จะไม่กล้าเข้ามาอยู่ดี)

 

 

3. ลูกนกกำพร้า ค่อนข้างโตแล้ว แต่ไม่มีพ่อแม่และยังดูแลตัวเองไม่ได้ ก็เก็บกลับมาช่วยดูแลเบื้องต้น แล้วค่อยปล่อย

 

 

 

 

 

 

คราวนี้เข้าเรื่อง… เมื่อรู้แน่ชัดว่าลูกนกตัวนั้น ไม่มีพ่อแม่รับกลับไปจริงๆ เราก็เก็บใส่กล่องกลับมาบ้าน (ถ้าขับรถ – ควรหาผ้าหรือฟางหรืออะไรรองกล่องซักนิด ไม่งั้นลูกนกมันจะลื่นไปลื่นมาอยู่ในกล่อง เบรกทีนกหัวทิ่ม 555)

ทีนี้ พอถึงบ้าน ขั้นแรกที่ต้องทำก่อนให้อาหารคือ – จำแนกชนิดนกให้ได้ว่าเป็น “นกอะไร” เพื่อให้อาหารได้ถูก

ถ้าไม่รู้ ก็ถ่ายรูปแล้วโพสต์ถามเลย ที่เฟซบุ๊กสมาคม BCST : https://www.facebook.com/bcst.or.th

** ข้อควรระวัง**  :  ไม่ควรให้อาหารเด็กประเภท “ซีรีแลกซ์” หรือ “นม”  เพราะนกไม่มีเอนไซม์สำหรับย่อยโปรตีนในนม อาจทำให้นกขี้แตกส์ได้ และพวกอาหารประเภทนี้โปรตีนต่ำมาก ในขณะที่ลูกนกต้องการโปรตีนสูงกว่านั้นมาก

ส่วนอาหารสำเร็จรูปของนกที่วางขายกันนั้น ก็ใช้ได้กับนกบางชนิดเท่านั้น

ซึ่งวิธีการให้อาหาร ก็จะแบ่งตามประเภทนกหลักๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้

 

[1]

กลุ่มนกเขา, นกพิราบ

– จุดเด่นของนกกลุ่มนี้ คือมีกระเพาะพักอาหาร ทำให้ป้อนได้คราวละเยอะหน่อย ไม่ต้องป้อนบ่อย

– ชนิดของอาหาร : ถ้ายังเด็กๆ ปากนิ่มๆ ให้อาหารสำเร็จของพวกนกแก้ว นกขุนทอง นกปากขอ  (ชงกับน้ำอุ่น ไม่ใช่น้ำร้อน เพราะไม่งั้น วิตามินต่างๆ จะสลายตัวหมด ทิ้งไว้ให้ได้อุณหภูมิห้อง ก็ป้อนได้ อย่าให้หนืดเกินไป ควรชงใหม่ทุกครั้งที่ป้อน ไม่ควรขี้เกียจแบบชงเหลือแล้วใส่ตู้เย็นไว้ อาหารประเภทนี้ไม่เหมาะที่จะทำแบบนั้น)

– ปริมาณที่ให้ :   ง่ายสุดคือ ชั่งน้ำหนักนกว่าหนักเท่าไหร่ แล้วให้อาหาร 10 cc ต่อน้ำหนักนก 100 กรัม (ต่อมื้อ)

– ความถี่ของการให้ :  4 มื้อต่อวัน

– อุปกรณ์ที่ใช้ : เข็มฉีดยาที่ต่อกับท่อให้อาหาร (feeding tube)

– ถ้าเป็นนกเด็กมากๆ มันจะอ้าปากรอ แต่ถ้าโตมาหน่อย มันจะไม่ยอมอ้าปากแล้ว แต่จะจิกๆๆ เราก็ต้องใช้วิธีบังคับ จับอ้าปาก แล้วดึงคอให้ยืดขึ้นหน่อยเพื่อให้หลอดอาหารตรง แล้วสอด feeding tube เข้าไปแล้วฉีดอาหาร (ต้องสอด feeding tube ลึกหน่อย ไม่งั้นอาหารจะทะลักออกมา)

– ถ้าลูกนกโตขึ้นจนปากเริ่มแข็งแล้ว เริ่มจิกอาหารกินเองได้ ก็เริ่มให้เมล็ดธัญพืช (แต่ถ้าเป็นนกเขาเปล้า – ให้กินพวกผลไม้ กล้วยขูดก็ได้ หรืออาหารนกแก้วโนรี)

ลูกนกเขา/นกพิราบ

[2]

กลุ่มนกเอี้ยง, ปรอด, กระจอก, นกกินแมลงอื่นๆ (รวมทั้งนกที่ตอนโตกินลูกไม้ ตอนเด็กๆ มันก็ต้องการโปรตีนเพื่อเติบโตเช่นกัน – ขมิ้น, กินปลี, โพระดก ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้)

– พวกนี้จะไม่มีกระเพาะพัก ทำให้ต้องป้อนอาหารบ่อยมาก แต่เลี้ยงรอดง่าย

– ชนิดอาหาร :  หนอนนก (จตุจักรก็มีขาย) แต่ก่อนให้ต้องทำให้หนอนตายก่อน ไม่งั้นหนอนจะกัดทางเดินอาหารของลูกนก, อาหารนกขุนทอง เม็ดๆ แช่น้ำ (ควรแช่ครั้งละพอใช้ต่อชั่วโมง)

( ** ข้อควรระวัง**  : อาหารหมาแช่น้ำ เป็นสิ่งที่แก้ขัดได้เฉยๆ แต่ไม่ควรให้ตลอด เพราะอาหารพวกนี้มีธาตุเหล็กสูง และนกเป็นสัตว์ที่ไม่ทนต่อการสะสมของธาตุเหล็ก สุดท้ายนกก็จะป่วยตาย)

–  ความถี่ในการให้ :  พวกนี้ถ้าหิว มันจะอ้าปากขออาหารเป็นดอกไม้บานเลย เห็นดอกไม้บานเมื่อไหร่ ก็หยอดหนอนใส่ปากได้ทันที  ซึ่งจะถี่มาก ถ้ามันอิ่ม มันก็จะไม่กินเองแหละ

– ไม่ต้องให้น้ำ เพราะในอาหารเม็ดมันมีน้ำอยู่แล้ว

– ถ้าเป็นลูกนกอ่อนมาก ขนยังไม่ขึ้น พวกนี้จะสูญเสียความร้อนง่าย ควรหารังที่มิดชิด เช่น กล่องเจาะรูปิดฝา (ส่วนใหญ่ในเมืองไทยถ้าอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสขึ้นไป ก็โอเคแล้ว ไม่ต้องเปิดไฟกกก็ได้)

( **ข้อควรระวัง**  แม้แต่ลูกนกกินปลี ก็ควรให้อาหารตามแบบข้างต้นนี้ เมื่อโตแล้วค่อยให้น้ำหวาน เพราะถ้าให้แต่น้ำหวานแต่เด็ก มันจะขาดโปรตีน โตขึ้นอาจบินไม่ได้)

ลูกนกปรอดสวน
ลูกนกปรอดหัวโขน
ลูกนกขมิ้นน้อยธรรมดา
ลูกนกเอี้ยงสาริกา
ลูกนกกระติ๊ด
ลูกนกกระจอกบ้าน
ลูกนกกาเหว่า
ลูกนกกินปลีคอสีน้ำตาล

[3]

กลุ่มนกเค้า

– ไม่มีกระเพาะพัก แต่กระเพาะแท้ใหญ่มาก ทำให้ไม่ต้องกินบ่อย ดูแลง่าย

– ชนิดอาหาร : หนอนนก, จิ้งจก, ซี่โครงไก่สับพร้อมเนื้อไก่, ถ้าโตหน่อยก็อาจกินลูกหนูได้ ฯลฯ

** ข้อควรระวัง **  ไม่ควรให้เนื้ออย่างเดียว (แบบให้เนื้อไก่ แต่ไม่ให้กระดูก) เพราะปกติในร่างกายจะมีระดับความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสอยู่ ถ้าเราให้แต่เนื้อสัตว์อย่างเดียวซึ่งมีฟอสฟอรัสมาก ทำให้สมดุลแคลเซียม-ฟอสฟอรัสเพี้ยนไป ร่างกายนกก็จะไปดึงแคลเซียมในกระดูกออกมา ส่งผลให้กระดูกผุ (ศัพท์วิชาการเรียกอะไรจำไม่ได้ละ) ซึ่งอาจทำให้นกบินไม่ได้ หรือเท้ารับน้ำหนักตัวไม่ได้

(รู้ได้ยังไงว่าแค่ไหนถึงพอดี – ง่ายๆ ก็คือเลือกอาหารที่กินทั้งตัวได้ อย่างหนอน จิ้งจก หรือสับเนื้อพร้อมกระดูกให้นั่นล่ะ)

– ความถี่ในการให้ขึ้นกับชนิดอาหารและช่วงวัยของนก

– พวกนกเค้าแมวจะตัวเล็ก บางทีซื้อหนอนมาขีดนึง นกกินไม่ทัน หนอนกลายเป็นดักแด้หมด เคล็ดลับก็คือ ให้แบ่งหนอนออกมาส่วนนึงที่พอใช้ ใส่กระบะเลี้ยงด้วยผัก (ซึ่งก็จะให้วิตามิน ซึ่งจะส่งตามห่วงโซ่อาหารไปถึงนก) ส่วนหนอนที่เหลือก็เก็บเข้าตู้เย็น (ช่องธรรมดา ประมาณ 4 องศาเซลเซียส) หนอนจะจำศีล  (อันนี้หมายถึงหนอนนก ไม่ใช่หนอนยักษ์) (หนอนยักษ์คือหนอนอีกขนาดที่ตัวบิ๊กเบิ้มกว่า)

ลูกนกเค้ากู่

[4]

กลุ่มนกโพระดก

– กลุ่มนี้ทำรังในโพรงลึก ไม่ค่อยเจอตกจากรัง ยกเว้นพายุพัดจนกิ่งไม้หัก หรือคนไปโค่นต้นไม้

– แต่จะเจอบ่อยประเภทหัดบิน ซึ่งอย่างที่บอก – แอบๆ ดูไว้ เดี๋ยวพ่อแม่นกมักมารับไปเอง

– แต่ถ้าไม่มีพ่อแม่นกจริงๆ และต้องเก็บมาเลี้ยง  ก็เขวี้ยงกล้วย เขวี้ยงมะละกอให้ได้เลย เดี๋ยวมันจัดการเอง หรืออาจหาลูกไม้แถวนั้นที่เป็นอาหารที่มันจะหาเองได้ในธรรมชาติ เช่นลูกตะขบ โยนให้มันกินเพื่อฝึกไว้ พอปล่อยมันจะได้หากินเองได้

ลูกนกตีทอง (นกโพระดกชนิดหนึ่ง)

[5]

อื่นๆ

– นกกวัก, กระแตแต้แว้ด : พวกนี้เวลาตกใจจวนตัว มันจะนั่งนิ่ง เหมือนบาดเจ็บ แต่ที่จริงไม่ใช่ ให้ปล่อยไว้ เดี๋ยวแม่มันตามมาเอง (แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บ ก็พวกหนอนนก, อาหารไก่)

ลูกนกกวัก

– เป็ด : ให้อาหารเป็ดละลายน้ำ ความยากของการเลี้ยงพวกนี้คืออุณหภูมิ เพราะปกติมันจะชอบซุกใต้ปีกแม่ เราก็อาจตั้งโคมไฟช่วย (กระบะเลี้ยงให้กว้างๆ มีจุดหนึ่งตั้งโคมไฟ ถ้ามันร้อนมันก็ออกมาเอง)

ลูกเป็ดเล็กๆ ยังไม่จำเป็นต้องให้เล่นน้ำ เพราะบางคนนึกว่าเป็ดชอบน้ำ ตั้งถาดน้ำไว้ ลูกเป็ดก็ดันไปเล่น ขึ้นมาหนาวตายเพราะไม่มีแม่ช่วยไซ้ขน

แต่ถ้าโตขึ้นหน่อย เราก็อาจให้อาหารไว้ในน้ำ เพราะปกติมันจะหากินในน้ำ แต่มันก็ขี้ในน้ำด้วย ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยมาก

ลูกเป็ดแดง

– นกแอ่น : ถ้าเห็นมันตกอยู่ที่พื้น ให้รู้ไว้ว่านกพวกนี้จะบิน take off จากพื้นไม่ได้ ถ้าสังเกตแล้วว่าปีกยังปกติ ไม่บาดเจ็บอะไร ให้ขึ้นไปบนระเบียงตึก แล้วปล่อยมันบินไป (ไม่ต้องโยนนะ วางไว้บนมือ เดี๋ยวมันจะบินไปเอง)

(แต่ถ้าแอ่นบาดเจ็บและเป็นนกเต็มวัย ต้องให้อาหารเหลวอย่างเดียว เพราะหลอดอาหารมันมีหูรูด ซึ่งปกติมันจะบินโฉบกินแมลงกลางอากาศ)

ลูกนกแอ่นบ้าน

– นกยาง :  เวลาให้ปลา ต้องให้ทั้งตัว (ห้ามแกะเอาก้างออกด้วยความหวังดี ไม่งั้นมันจะขาดแคลเซียม)  ถ้าโตหน่อย ก็ใส่ปลาเป็นๆ ในถาดน้ำ  ให้มันฝึกจับปลากินเอง

– พวกยางไฟหรืออ้ายงั่ว เวลาจับต้องระวังดีๆ ไม่งั้นมันจะฉก (คือยืดคอมาฉก ไม่ใช่กัด และปากมันแหลมมาก ดังนั้นถ้าตอนที่จับไปส่งหมอ หาผ้าหรือหลอดมาครอบปากไว้ก็ดี)

– นกชายเลนบางชนิด เช่น โป่งวิด ต้องกลบหนอนไว้ใต้ทราย มันถึงจะกิน วางหนอนให้เฉยๆ ไม่กินนะจ๊ะ

– นกตบยุง – พวกแมลงผง ที่เขียนว่า insect-pro (หายากหน่อย ของต่างประเทศ)

 

[6]

อาการบาดเจ็บต่างๆ

– นกเป็นแผล เช่น แมวกัด  ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือทาแผลด้วย silver nano  ส่วนเบตาดีน มีประวัติว่านกหลายตัวก็แพ้

– นกบินชนกระจก (ซึ่งมีเยอะมากกกกก  แต้วแล้ว 9 ใน 10 ที่ถูกส่ง รพ. มาจากสาเหตุนี้ และกว่าครึ่งไม่ยอมรับอาหารในกรงเลี้ยง รับแต่น้ำ)  วิธีช่วยคือ ปล่อยไว้เฉยๆ ให้มันหายมึนสักพัก พอมันดีขึ้น มันก็บินไปต่อได้เอง แต่ถ้าชนหนักจนสมองกระเทือน (ดูจากการทรงตัวที่ผิดปกติ) ก็ส่งหมอ  แต่ทางที่ดีควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า

– นกติดกาวดักหนู  ถ้าไม่เยอะก็ใช้เบบี้ออยล์เช็ด ถ้าเยอะก็อาจต้องถอนขนในส่วนนั้น

– เหยี่ยวป่วยบางตัวไม่ยอมกินอาหาร ถ้าไม่รู้สาเหตุ ลองจับมันอ้าปากดู เคยพบเคสที่ในคอเต็มไปด้วยหนองจนกลืนอาหารไม่ได้ ให้ส่งหมอ ซึ่งอย่างนี้ต้องให้อาหารเหลวที่เขียนว่า carnivore Care (ของต่างประเทศเช่นกัน)

** บางคนกลัวว่า การจับนก เราจะติดเชื้อโรคจากนกมั้ย เช่น ไข้หวัดนก ซึ่งคุณหมอบอกว่า ถ้าไม่จับนกมาจูบปาก โอกาสก็น้อยมาก แค่จับเชื้อโรคไม่ติดหรอก ยกเว้นแต่คนที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออยู่ในฟาร์มไก่ที่ได้รับเชื้อพวกนี้มาจนเต็มขีดแล้ว หรือแม้แต่เชื้อบางตัวที่ก่อให้เกิดโรคหนักในนก พอมาสู่คนก็อาจทำให้เกิดแค่โรคกระจอกๆตัวนึง ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไรเลย

และสุดท้าย(อันนี้เราเขียนเอง)… เมื่อพยาบาลเบื้องต้นจนนกแข็งแรงดีแล้ว ก็ควรปล่อยนกไปในพื้นที่ที่มีอาหารตามธรรมชาติของนกประเภทนั้น  อย่าให้ความผูกพัน มาทำให้เรากักขังเขาไว้ในกรงตลอดชีวิตเลยนะ

แม้นอกกรงจะเสี่ยง แต่นั่นมันก็คือชีวิต

นกจะสวยงามและมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อมันมีอิสระและได้ทำหน้าที่ตามธรรมชาติ  มากกว่าที่จะเป็นแค่เพียงสิ่งมีชีวิตสีสวยร้องได้ที่อยู่ในกรงทอง เพื่อตอบสนองความสุขส่วนตัวของคน

ฟังคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=FHlxf3hc1YAhttps://www.youtube.com/watch?v=5Khmqhy03w8https://www.youtube.com/watch?v=rzCab_vMiKQ

ขอขอบคุณภาพประกอบโดย คุณกฤษณศักดิ์ สิงห์คำ, วรพจน์ บุญความดี และ หน่วยช่วยเหลือนกป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

12 วิธีรักษ์นกแสนง่าย ฉบับทำได้เองที่บ้าน

เรียบเรียงโดย: อุเทน ภุมรินทร์
เรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของนักชีววิทยาที่ต้องแบกเป้ใบโต เดินทางฝ่าแดดฝน ขึ้นเขา ลงห้วย มุดถ้ำ ฯลฯ เท่านั้น เพราะใครก็เป็นนักอนุรักษ์ได้ทั้งนั้น ไม่เชื่อ! ลองอ่าน 12 วิธีรักษ์นกแสนง่ายที่คุณทำได้ที่บ้าน ดูก่อนสิครับ

1. ป้องกันนกบินชนกระจก (Prevent Bird Collisions with Your Windows)

นกมองไม่เห็นกระจก พวกมันเห็นเฉพาะแต่เงาต้นไม้บนนั้น จึงบินชนกระจก มีการประเมินกันว่า นกที่ชนกระจกมีโอกาสรอดแค่ 50-50 เท่านั้น ในอเมริกาพบว่า แต่ละปีมีนกจำนวนมากถึง 1,000,000,000 ตัว ต้องตาย เพราะบินชนกระจก คุณช่วยมันได้ด้วยการติดผ้าม่าน ติดลวดลายบนกระจกให้นกเห็น

2. ใส่สายจูงสุนัข และเลี้ยงแมวในบ้าน (Protect Birds From Pets)

เพราะการเลี้ยงแมวแบบปล่อย และไม่ใส่สายจูงเมื่อพาน้องหมาออกนอกบ้าน เสี่ยงต่อการที่น้องหมา แมวจะไปจับ หรือทำร้ายนก และสัตว์อื่นในธรรมชาติได้ง่าย (อย่างน้อย ใส่กระดิ่งคล้องคอก็ยังดีจ้ะ ช่วยให้นกรู้ตัวก่อนโดนเจ้าเหมียวขย้ำ)
คลิก! ทำไม? ต้องเลี้ยงแมวในบ้าน และทริคการเลี้ยงแมวในบ้าน แบบเจ้าเหมียวแฮปปี้ http://www.peta.org/living/companion-animals/caring-animal-companions/caring-cats/indoor-cats/

3. ไม่ซื้อหรือสนับสนุนการค้านกป่า (Don’t Buy Illegally Caged Birds)

หากต้องการเลี้ยง ควรซื้อหรือสนับสนุนนกที่ได้จากการเพาะพันธุ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นนกที่นิยมเลี้ยง และมีการเพาะพันธุ์อย่างแพร่หลาย เช่น นกหงส์หยก เลิฟเบิร์ด ฯลฯ

4. จัดทำ “อ่างน้ำเพื่อนนก (bird bath)”

โดยใช้จานรองกระถางใส่น้ำ วางบนกระถางปลูกต้นไม้คว่ำ วางไว้ตามพุ่มไม้ให้เป็นที่หลบของนก อาจหาก้อนหินสวยๆ วางประดับด้านข้างของสระน้ำให้เป็นที่เกาะพักตอนเล่นน้ำ แล้วคอยหมั่นเติมน้ำ ทำความสะอาดให้สม่ำเสมอ

5. ปลูกต้นไม้ให้นก (Planting for birds)

ต้นไม้เป็นทั้งที่สร้างรังเลี้ยงลูก เป็นแหล่งอาหาร และที่หลบภัยให้กับนก เราปลูกต้นไม้ให้นกได้ แถมดึงดูดนกมาให้เราดูถึงหน้าบ้านด้วย เช่น ปลูกชบา หมวกจีน โมก ฯลฯ ไม้ประดับพวกนี้ดึงดูดนกกินปลี–มากินน้ำหวานจากดอกไม้ ปลูกผลไม้ เช่น กล้วย น้อยหน่า มะละกอ หรือแม้แต่พริกขี้หนู ดึงดูดนกกินผลไม้ เช่น นกปรอดหน้านวล ปรอดสวน ฯลฯ

6. ขับรถช้าๆ (Slow Down When Driving)

ในแต่ละปีมีนกจำนวนไม่น้อย ตายเพราะโดนรถชน (เฉพาะในอเมริกา มีนกถูกรถชนตายปีละหลายล้านตัว) เมื่อคุณขับรถ โดยเฉพาะเมื่อขับรถในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ ไม่ควรขับรถเร็วนัก เพื่อให้นกมีโอกาสหนีออกจากถนนได้ทัน

7. รักษาระยะห่าง (Keep Your Distance)

หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้นกในธรรมชาติจนเกินไป เพราะรบกวนกิจกรมตามปกติของมัน เช่น การหาอาหาร การเลี้ยงลูก ฯลฯ และทำให้นกเครียดหรือหลีกเลี่ยงใช้พื้นที่นั้น โดยเฉพาะในช่วงนกทำรังเลี้ยงลูก อาจทำให้นกทิ้งรัง หรือลูกนกตายได้เลย

8. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี (Avoid Chemicals)

เพราะสารเคมีที่เราใช้ ย่อมตกค้างในระบบนิเวศ และส่งผลถึงนกตามห่วงโซ่อาหาร เช่น ยาเบื่อหนู ทำให้นกแสก/ นกเค้าที่กินหนูเป็นอาหารตายอีกต่อหนึ่ง สารเคมี/ ยาฆ่าแมลงในระบบเกษตร ส่งผลต่อการลดจำนวนลงของนกนักล่าหลายชนิด เช่น นกอีเสือหัวดำ เหยี่ยวขาว ฯลฯ

9. คอยดูลูกนกตกรังอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ (Leave Fledglings Where You Find Them)

เมื่อคุณพบลูกนกตกจากรัง หลีกเลี่ยงที่จะเก็บมาเลี้ยงเอง เพราะลูกนกในช่วง “นกเอ๊าะ” ที่ออกจากรังใหม่ๆ ปีกยังไม่กล้า ขายังไม่แข็ง ต้องใช้เวลาเต๊าะแต๊ะใกล้พื้นหลายวันก่อนจะบินได้ แต่มีพ่อแม่นกคอยปกป้องและหัดบินให้ เราช่วยได้ด้วยการเลี้ยงน้องแมว/ หมาไว้ในบ้าน หากคุณพบลูกนกกำพร้าจริงๆ เช่น รังของมันถูกทำลาย และไม่เห็นพ่อแม่นกแถวๆ นั้น หรือแมวไปคาบมา ฯลฯ ติดต่อหน่วยช่วยเหลือนกป่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ https://www.facebook.com/WildbirdCareKU/

10. ชวนคนรอบตัวรู้เรื่องนก (Teach Others About Birds)

ชวนเพื่อน หรือคนใกล้ตัว เรียนรู้เรื่องนกไปพร้อมกับเรา ได้ง่ายๆ เช่น แชร์ภาพหรือเรื่องราวนกในเมืองสีสวย กิจกรรมดูนก/ ศึกษาธรรมชาติ หรือบทความนี้–แฮ่ๆ ฯลฯ เมื่อมีคนรู้เรื่องนกมากขึ้น ก็มีคนช่วยกันรักษ์นกมากขึ้นนั่นเอง

11. ออกไปสนุก เรียนรู้ธรรมชาติ (Get Outdoors and Enjoy Nature)

มองหาสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวใกล้บ้านหรือมาร่วมกิจกรรม “Bird walk เดินชมนกในสวน” เป็นประจำทุกเดือนกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) พาเดินชมธรรมชาติฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bcst.or.th/essential_grid/bird-walk

12. สนับสนุนการอนุรักษ์นก (Support Conservation)

เข้าร่วมหรือสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิโลกสีเขียว ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ฯลฯ เพื่อเรียนรู้เรื่องนก และช่วยอนุรักษ์นก หรือเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครขององค์กรเหล่านี้ ได้ช่วยรักษาถิ่นอาศัยของนกหรือช่วยเหลือนกโดยตรง
แค่นี้ การอนุรักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ใครคิดวิธีรักษ์นกวิธีอื่นได้หรือทำตามวิธีที่ผมแนะนำไปแล้ว ส่งภาพมาแบ่งกันชมบ้างนะครับ
*ขอบคุณภาพประกอบ ปลูกต้นไม้ให้นก งามๆ จากอาจาร์ย C&W คุณ Narin Somthas และ คุณ Nopagan Chotecharnont และภาพประกอบอื่นๆ จาก Lannabird_fb และ Wildlife Unit, Veterinary Teaching Hospital, Kasetsart University