สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (สนท.) หรือ Bird Conservation Society of Thailand (BCST) องค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นจากนิยมไพรสมาคม หรือ The Association for the Conservation of Wildlife (ACW) ก่อตั้งโดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล “บิดาแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2496 โดยใช้สหการแพทย์หรือบ้านของท่าน ซอยเจริญกรุง 36 หรือตรอกโรงภาษี แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ณ ที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้า สำหรับผู้สนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ สัตว์ป่าและป่าไม้แห่งแรกของประเทศไทย โดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อีกทั้งท่านยังได้เขียนภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับนกและสัตว์ป่า เผยแพร่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์เป็นประจำตั้งแต่ พ.ศ. 2498

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

ต่อมาในปีพ.ศ.2505 ชาวต่างประเทศที่รักการดูนกและเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว ได้จัดตั้ง Bangkok Bird Club (BBC) โดยมีนายเอ็ดเวิด ซี ดิคคินสัน (Mr.E.C. Dickinson) เป็นเลขาธิการกิติมศักดิ์ เพื่อรวมกลุ่มนักดูนกทั้งมืออาชีพและสมัครเล่น รวมทั้งนักปักษีวิทยาชาวไทยและต่างประเทศ ให้มาศึกษาเกี่ยวกับนกในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีการออกไปดูนกตามสถานที่ต่าง ๆ ประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับนกและการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นประจำ

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2519 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้นำเอากิจกรรมการดูนกเป็นส่วนหนึ่งของนิยมไพรสมาคมและมีชื่อเรียก Bangkok Bird Club (BBC) เป็นภาษาไทยครั้งแรกว่า “กลุ่มชมนกกรุงเทพ” มีนายโจ พอลลี่ (Mr. Joe Pauly) นักดูนกชาวอเมริกันเป็นประธาน เริ่มมีข่าวสารเป็นภาษาอังกฤษออกทุกเดือน มีการประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 ที่สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.ราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยใช้ภาษาอังกฤษ มีการกำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของทุกเดือนเป็นวันประชุมสมาชิก พร้อมทั้งนำสมาชิกออกไปดูนกนอกสถานที่เป็นประจำ

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2521 นายโจ พอลลี่ เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลจึงอาสารับกลุ่มชมนกกรุงเทพ เข้ามาเป็นกิจกรรมหนึ่งของนิยมไพรสมาคมและรับเป็นประธาน โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มนก นิยมไพรสมาคม” มีรูปนกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนกที่ทุกคนเห็นได้ง่ายโดยทั่วไป มีเสียงร้องไพเราะและอยู่ใกล้เรามากที่สุด ตามปกติกลุ่มนก นิยมไพรสมาคมจะประชุมกันที่สหการแพทย์ แต่ต่อมาเห็นว่าภาระกิจมีมากขึ้น จึงออกไปจัดตั้งเป็นชมรมอิสระดำเนินกิจกรรมด้วยตนเอง ใช้ชื่อว่า “กลุ่มชมนกกรุงเทพ” โดยมีคุณวิรัช จันทรัศมี เป็นประธาน มีการจัดตั้งคณะกรรมการชมรมฯ ประกอบด้วยชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่อมาย้ายสถานที่ประชุมประจำเดือนไปที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ ขณะนั้นมีสมาชิกรุ่นใหม่เข้ามาร่วมกิจกรรมมากขึ้น

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2527 หม่อมราชวงศ์ ปรัชญากร วรวรรณ (บิดาของหม่อมหลวง ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสารคดีสัตว์ป่าอันดับหนึ่งของไทย) รักษาการณ์ตำแหน่งประธานสืบต่อมา ได้มีการย้ายที่ประชุมประจำเดือนมาที่ตึกแถบ นิละนิธิ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ โดยใช้ภาษาไทยในการประชุม

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 เริ่มมีการจัดทำวารสารฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก รูปนกกางเขนบ้านพุงยุ้ย (เดิม) ก็ได้กลายมาเป็นรูปนกกางเขนบ้านรูปร่างเพรียวสวยงามจนบัดนี้ โดยมีม.ร.ว.ปรัชญากร วรวรรณ เป็นบรรณาธิการร่วมกับนายฟิลลิป ดี ราวด์ (Philip D. Round) และสมาชิกส่วนมากของชมรมฯ เป็นคนไทยมากขึ้น ต่อมา สมาชิกได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มคณะทำงานชั่วคราวและเปลี่ยนชื่อเป็น “ชมรมดูนกกรุงเทพ” โดยมีคุณกมล โกมลผลิน เป็นประธานคนแรก มีการประชุมคณะทำงาน ออกวารสารและนำสมาชิกดูนกนอกสถานที่เป็นประจำทุกเดือน อีกทั้งได้มีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมฯ ด้านต่าง ๆ มากขึ้นประมาณ 1,000 คน คณะทำงานจึงได้ร่างกฎระเบียบของชมรมฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและบริหารงาน เนื่องจากชมรมฯ จะเติบโตต่อไปในอนาคต โดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้ร่วมกิจกรรมกับชมรมฯ มาโดยตลอด

จากนั้นกิจกรรมของชมรมดูนกกรุงเทพ ก็มีมากขึ้นและเป็นทางการมากขึ้น ได้ติดต่อกับหน่วยงานหลายภาคส่วนและทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจังไปทั่วประเทศไทย สมาชิกจึงเห็นพ้องกันพัฒนาองค์กรจัดตั้งเป็น สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (สนท.) หรือ Bird Conservation Society of Thailand (BCST) โดยได้รับอนุญาตและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2536 โดยนายสุธี ศุภรัฐวิกร เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก

นายกสุธี (ขวา) รับมอบเงินบริจาคจากคุณทิพวรรณ ตันติธาดาพิทักษ์

ถ่ายเป็นที่ระลึกในการแสดงปาฐกถาธรรม โดยพระเทพวิสุทธิเมธี (ปัญญานันทะ)

ปัจจุบันสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ยังคงทำงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติไปทั่วประเทศไทยเช่นเดิม โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อสร้างความยั่งยืนระหว่างนก ธรรมชาติและมนุษย์ มีพันธกิจมุ่งเน้นเผยแพร่ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของนก ถิ่นอาศัย และทรัพยากรธรรมชาติแก่สังคม โดยการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอันยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูนก การศึกษา และโครงการอนุรักษ์ อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ เพื่อคงไว้ซึ่งแหล่งอาศัยของนกและสัตว์ป่าตามธรรมชาติแด่ชนรุ่นหลัง

คุณโซไรดา ซาลวาลา (กลาง) จากมูลนิธิเพื่อนช้างมาร่วมอนุรักษ์นก

อาจารย์มงคล วงศ์กาฬสินธ์ (ขวา) และคุณสันทนา ปลื้มชูศักดิ์ (ซ้าย) ทักทายกันตามประสา Wildlife Artist

อาสาสมัครช่วยหารายได้ในงาน

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สมาคมฯ ก็ได้ลงนามเป็นภาคี สมาชิกขององค์กรอนุรักษ์นกสากล (Full Partner of BirdLife International) เป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งใน 16 ภาคีของทวีปเอเซีย

กิจกรรมหลักที่ทางสมาคม ฯ ได้ทำอย่างตั้งใจมาอย่างต่อเนื่องได้แก่

  • กิจกรรมนับนกน้ำเอเชีย (Asian Waterbird Census) ในเดือนมกราคม ที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 เป็นมหกรรมการดูและนับนกน้ำ ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกันทั่วประเทศมากที่สุดและในแต่ละปีสามารถนับนกได้หลายแสนตัว ซึ่งใช้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชุ่มน้ำได้เป็นอย่างดี
  • กิจกรรมดูนกในสวน (Bird Walk) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2551 โดยจะนำผู้ที่สนใจในธรรมชาติ เข้าร่วมดูนกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ตามสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนหลวงรัชกาลที่ 9 สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และพุทธมณฑล ที่ผ่านมามีเข้าร่วมกิจกรรมแล้วนับหมื่นคน
  • กิจกรรมนำสมาชิกสมาคม ฯ ไปศึกษาธรรมชาติและดูนกตามพื้นที่อนุรักษ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เดือนละ 3 – 4 ครั้ง ซึ่งทำติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกลุ่มชมนกกรุงเทพ เมื่อปีพ.ศ.2519 จวบจนปัจจุบัน
  • งานเทศกาลดูนกประเทศไทย (The International Thailand Bird Fair) ในเดือนพฤศจิกายน ที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 จวบจนปัจจุบัน จัดเป็นงานนิทรรศการด้านอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย มีการแสดงนิทรรศการและออกร้านจากกลุ่มองค์กรด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมแล้วนับร้อยองค์กร
  • โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำอ่าวไทยตอนใน เพื่อนกประจำถิ่นและนกอพยพในฤดูหนาว จากตอนเหนือของเอเชียให้ได้มีถิ่นพำนักที่ปลอดภัย มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีและเกษตรกรผู้ทำนาเกลือสมุทรได้ใช้ชีวิตตามวิถี ซึ่งสามารถอยู่ร่วมกับนก ควบคู่ไปกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย
  • โครงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าดิบที่ราบต่ำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาประ-บางคราม จังหวัดกระบี่ มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2529 ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายของนกแต้วแล้วท้องดำ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

ติดต่อสมัครสมาชิกหรือสนับสนุนสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ที่บ้านเลขที่ 221 หมู่ 2 ซอยงามวงศ์วาน 27 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี รหัสไปรษณีย์ 11000 โทรศัพท์ 02 – 588 – 2277, 064 – 458 – 9899 หรือเว็บไซต์ (www.bcst.or.th) หรือเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/bcst.or.th) ซึ่งจะมีประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ให้ทราบเป็นประจำ หรืออีเมล์สอบถามรายละเอียดได้ที่ bcst@bcst.or.th

“เชิญร่วมสร้างความยั่งยืนระหว่างนก ธรรมชาติและมนุษย์ไปด้วยกัน”